เรื่อง : พิมผกาพร พรเพ็ง
ภาพ : ธัญพล มัตสยะวนิชกูล
ใกล้กันกับเรือนจำกลางจังหวัดขอนแก่น มีซอกหลืบเล็กๆ ซึ่งเป็นสถานที่ฝังตัวของพื้นที่ทางศิลปะร่วมสมัย ชวนทุกคนที่รักศิลปะ เข้ามาทำความเข้าใจและขยายขอบเขตของศิลปะร่วมสมัย ให้ไปไกลกว่าความงามและสุนทรียะแบบเดิมในอดีต ห้องสี่เหลี่ยมสีขาวขนาดเล็กแห่งนี้จึงเกิดขึ้นในชื่อ “HUAK SOCIETY” พื้นที่ทางสังคมที่เปิดโอกาสให้งานศิลปะและผู้สนใจเข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในผลงานในแต่ละนิทรรศการที่จัดขึ้น
.
GLANCE ชำเลือง เป็นนิทรรศการล่าสุดที่จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 22 สิงหาคม - 20 กันยายน 2563 ด้วยการแสดงภาพเขียนของ 3 ศิลปินที่ใช้เทคนิคและวิธีการนำเสนอแตกต่างกัน แต่กลับมีจุดร่วมเดียวกันปรากฏอยู่บนภาพอย่างน่าสนใจ ศุภกิจ สวัสดิ์วงศ์ไชย ศิลปินที่จับพู่กันและอยู่กับจิตรกรรมมาโดยตลอด แต่ด้วยความที่ไม่ได้จบจากโรงเรียนศิลปะโดยตรง ในความเป็นขนบของภาพวาด จึงมีตัวตนและการลองผิดลองถูกของเขาเองอยู่ในภาพเขียนเหล่านี้ด้วยเสมอ แปรงพู่กันขนาดใหญ่พร้อมกับหมึกสีดำกดลงบนกระดาษสีขาว ภาพวาดบุคคลแสดงสีหน้าหลากหลายปรากฏขึ้น ไม่เพียงแค่ภาพเท่านั้น แต่อารมณ์และความรู้สึกในใบหน้าเหล่านั้นก็เด่นชัดขึ้นมาด้วยการลงน้ำหนักมือและฝีแปรงของจิตรกรเอง สื่อสารกับผู้ชัดได้ชัดเจนเช่นเดียวกันกับลายเส้นสีดำที่ถูกขีดขึ้น
.
ถนอมศักดิ์ ไชยคำ อาจารย์สอนศิลปะจากรั้วมหาลัยในจังหวัดขอนแก่น ทำงานภาพพิมพ์ในรูปแบบนามธรรมสะท้อนความเป็นมนุษย์ลงบนภาพพิมพ์ 2 มิติของเขา งานภาพพิมพ์ที่ถอดเส้นสายและโครงสร้างออกมาจากใบหน้าของบุคคล เรียบเรียงใหม่ด้วยเส้นและสีผ่านเทคนิคภาพพิมพ์ ถึงแม้ว่าภาพพิมพ์ของศิลปินจะไม่ได้แสดงความรู้สึกของสีหน้าชัดเจนเท่ากับภาพอื่นๆ แต่ก็เด่นชัดในการเดินทางของเส้นสายที่ม้วนพันอย่างไม่มีวันจบสิ้น ปรากฎขึ้นเป็นอีกหนึ่งภาพหน้าของบุคคลที่แม้มองไม่เห็น แต่เข้าใจได้ดีไปถึงภายใน
.
นิพนธ์ ขันแก้ว อดีตคุณครูจากโรงเรียนสอนศิลปะผู้บุกเบิกพื้นที่แห่งความเป็นไปได้แห่งนี้ให้เกิดขึ้นในจังหวัดขอนแก่น วาดภาพบุคคลด้วยดินสอหลายครั้งต่อหลายครั้งบนกระดาษลังสีน้ำตาล และถึงแม้จะลบภาพร่างเดิมออกไปแล้ว แต่ร่องรอยยังคงปรากฏให้เห็น จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของภาพวาด ทำให้เกิดการเคลื่อนที่ของวัตถุในภาพ ราวกับว่าภาพเขียนของบุคคลเหล่านั้นกำลังเคลื่อนไหวและส่งสารบางอย่างออกมาถึงผู้ชม
.
งานแต่ละชิ้นจากศิลปินทั้ง 3 คนกำลังพูดถึงอารมณ์และความรู้สึกที่เกิดขึ้นผ่านภาพบุคคลที่เห็นเพียงแค่ส่วนของใบหน้า ใบหน้าและอารมณ์เหล่านั้นปะทะกับผู้ชมโดยตรง เรียกร้องการจ้องและเพ่งมองจากผู้ชมแทบจะทั้งหมด อาจด้วยความที่ภาพมีลักษณะเป็นรูปแบบนามธรรม ต้องใช้เวลาในการอ่านและทำความเข้าใจแต่ละภาพอย่างถี่ถ้วน เพื่อให้เห็นถึงรายละเอียดและอารมณ์ที่ปรากฏออกมาในงานแต่ละชิ้น
.
ถึงแม้ว่าตัวงานจะเรียกร้องเวลาและการจ้องมองจากผู้ชมอย่างมากมายมหาศาล ชื่อของนิทรรศการกลับต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง “ชำเลือง” คือชื่องานหลักที่ติดอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ อาการของการมองที่ใช้เพียงหางตา อาจเป็นการมองที่ไม่ตั้งใจ มองให้ผ่านๆ ไปก็เท่านั้น แน่นอนว่าหากการชำเลืองมองเกิดขึ้นกับผลงานในนิทรรศการนี้ ความรู้สึกและอารมณ์ในภาพวาดจะไม่มีทางสัมผัสได้ด้วยตาของผู้ชม งานทุกชิ้นอาจกลายเป็นเพียงภาพบุคคลที่แสดงลายเส้นที่หลากหลายเพียงเท่านั้น
.
ดังนั้น เพียงแค่ “ชำเลือง” จะเพียงพอแล้วจริงหรือสำหรับการทำความเข้าใจผลงานในนิทรรศการนี้ ?
.
นอกเหนือจากความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในภาพวาดแต่ละชิ้น ผลงานของนิพนธ์ ขันแก้ว ยังสื่อสารกับผู้ชมมากกว่านั้น โปสเตอร์งาน “เปิดเมือง ปลุกอนาคต” กิจกรรมที่ 1502 Creative Sharing Space บนถนนศรีจันทร์ถัดไปจาก Huak Society ไปไม่กี่ร้อยเมตร โปสเตอร์ขนาดใหญ่ถูกตัดออกเป็นชิ้นเล็กๆ เศษเสี้ยวแต่ละชิ้นติดลงบนภาพวาดของศิลปิน เศษโปสเตอร์เหล่านั้นกลายเป็นตัวรบกวนสายตาที่ดึงผู้ชมออกจากภาพวาด ความเคลื่อนไหวของลายเส้นจึงหยุดลง เนื่องจากการรบกวนของฉากหน้าที่ไม่เปิดโอกาสให้ภาพวาดได้เคลื่อนไหวอย่างที่ควรจะเป็น
.
โปสเตอร์กิจกรรม “เปิดเมือง ปลุกอนาคต” จึงกลายเป็นสิ่งที่ทำให้เสียงและภาพของงานไม่สามารถสื่อสารได้ เช่นเดียวกันกับไฟสปอร์ตไลท์ที่ผู้คนให้ความสนใจไปยังนิทรรศการ “มาเบิ่ง มาแงง มาคึด มาเฮ็ด” นิทรรศการในกิจกรรมเปิดเมือง ปลุกอนาคต ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชนที่ร่วมจับมือกันเพื่อพัฒนาเมืองขอนแก่นในอนาคต ในขณะที่ ผู้คนในพื้นที่อย่างประชาชน กลับมีเสียงอยู่ในกิจกรรมที่ร่วมกำหนดทิศทางการพัฒนาเมืองแห่งนี้น้อยเสียจนไม่มีใครได้ยิน เช่นเดียวกันกับแผ่นโปสเตอร์ที่ติดเพื่อรบกวนการสื่อสารกับคนดูในงานของ นิพนธ์ ขันแก้ว ที่ทำได้แค่ “ชำเลือง” มากกว่าการจ้องมองและใช้เวลาเพื่อให้ความเคลื่อนไหวเหล่านั้นปรากฏขึ้นมา
.
บนถนนศรีจันทร์ เส้นทางการคมนาคมหลักของขอนแก่นจึงเป็นที่ตั้งของ 2 นิทรรศการที่กำลังส่งเสียงตอบโต้กันจากกลุ่มคนที่แตกต่าง ภาครัฐและภาคเอกชนผู้มีสิทธิ์กำหนดทิศทางการเติบโตของเมือง และภาคประชาชนที่เป็นผู้อาศัยและทำให้เมืองขอนแก่นมีชีวิต แน่นอนว่าคนทุกกลุ่มล้วนมีเป้าหมายเดียวกันคือความหวังในการเห็น “บ้าน” พัฒนาและเติบโตไปเป็นพื้นที่แห่งความสุข ไม่ว่าจะในแง่ สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และรอยยิ้มของผู้คน
.
ท้ายที่สุด เสียงทุกเสียงที่ส่งออกมาล้วนมีความหมายและควรถูกรับฟัง การเกิดขึ้นของพื้นที่เหล่านี้เองที่จะกลายเป็นพื้นที่ในกลายขับเคลื่อนเมืองต่อไปในอนาคต ไม่ว่าจะในมุมมองใด การแลกเปลี่ยนและรับฟังความคิดเห็นเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถึงแม้แต่ละกลุ่มจะมีทิศทางการพัฒนาที่แตกต่าง แต่ทุกคนล้วนอยากให้ “บ้าน” เป็นพื้นที่แห่งความสุขเช่นเดียวกัน
.
Comments