เรื่อง : นัทธ์หทัย วนาเฉลิม
ภาพ : ผศ.ดร. ขาม จาตุรงคกุล
มหานครขอนแก่น เมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 200 ปี เมืองที่เติบโตอย่างรวดเร็วด้วยการผลักดันจากความเจริญทางเศรษฐกิจ หลายย่านเงียบเหงาซบเซาไปตามวัฏจักรของกาลเวลา แต่มีย่านหนึ่งที่ไม่เคยหลับใหล มันเติบโตไปพร้อมกับความเป็นเมืองขอนแก่น “ย่านศรีจันทร์”
หลายคนอาจจะเข้าใจว่าย่านศรีจันทร์นั้นมีเพียงถนนศรีจันทร์เท่านั้น แต่ความจริงย่านเศรษฐกิจใจกลางเมืองนี้ครอบคลุมพื้นที่ถนนถึง 5 สาย ด้วยกันคือ ศรี (จันทร์) ดรุณ (สำราญ) รื่น (รมย์) กลาง (เมือง) (รื่น) จิตร
เตรียมใจถึงๆ แล้วไปตะลุยย่านเก่าศรีจันทร์ด้วยกัน…
ศรี (จันทร์) : ถนนแห่งความมั่งคั่ง
ถนนสายแรกที่ราดยางมะตอย…
ถนนแห่งความมั่งคั่ง…
โซนศรีจันทร์ เริ่มจากบริเวณศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ศาลาสุขใจ และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถัดไปบนถนนสายนี้จะพบ ธนาคารสาขาต่างๆ เรียงรายอยู่บนถนนสายนี้ ซึ่งในยุคสมัยพุทธศักราช 2500 สถาบันการเงินต่างๆ เริ่มมุ่งเป้ามาเปิดสาขาที่ขอนแก่น จากการที่ถูกวางกลยุทธให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของอีสาน ไปจนถึงวัดศรีจันทร์ ซึ่งเป็นวัดธรรมยุตเก่าแก่ พื้นที่เศรษฐกิจที่มีความคึกคักของถนนศรีจันทร์ในยุค 2500 ก็สิ้นสุดลงที่วัดนี่เอง
ธ ผู้นำความเจริญมาสู่ทุกที่ที่เสด็จไป
เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศวร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสร็จสิ้นพระราชภารกิจการศึกษาต่อ ณ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ และได้เสด็จนิวัติมาประทับในราชอาณาจักรไทยเป็นการถาวรแล้ว จึงกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในทุกภูมิภาค ทั่วราชอาณาจักร โดยได้ทรงเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภูมิลำเนาแรก ระหว่างวันที่ 2-20 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2498
โดยได้เสด็จเยี่ยมราษฎรขอนแก่น ครั้งแรกในวันเสาร์ที่ 5 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2498 ในครั้งนั้นเสด็จขึ้นประทับรถยนต์พระที่นั่งออกจากสถานีรถไฟ ไปสักการะศาลหลักเมือง จากนั้นเสด็จประทับแรม ณ ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น
ภายหลังจากการเสด็จครั้งนั้น จึงมีการตั้งชื่อถนนสายที่ตัดเข้าซอยบริเวณถนนหน้าเมือง เพื่อเป็นระลึกถึงและเฉลิมพระเกียรติว่า “ถนน 5 พฤศจิกา”
“ถนนศรีจันทร์ เป็นถนนสายแรกในขอนแก่นที่ราดยางมะตอยเลยนะ ตอนนั้นราดเพื่อเตรียมรับเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่จะเสด็จมาเยี่ยมประชาชนขอนแก่นนี่ละ ทุกคนก็ตื่นเต้นกันมาก พวกลูกเสือชาวบ้านก็ซ้อมเดินสวนสนามกันเพื่อต้อนรับท่าน” คุณชาตรี โล่วณิชเกียรติกุล อายุ 79 ปี เจ้าของบ้านเก่าสไตล์จิ้มแจ้บริเวณตลาดน้อยเล่าถึงเหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่งในชีวิตของท่าน
ถนนแห่งความมั่งคั่ง
บนถนนศรีจันทร์ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่ามีสถาบันการเงินต่างๆ ยึดชัยภูมิเรียงรายตลอดเส้นทาง เศรษฐกิจสังคมในยุคสมัยที่มีชื่อเรียกกันเล่นๆ ว่า “ยุคจรวด” ในจังหวัดขอนแก่นยังมีเพียง 5 ธนาคาร คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารนครหลวงไทย และธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ โดยยังเป็นธนาคารในระบบที่เรียกว่า “คอมปะโดร์” (compador)
“ถึงแม้ธนาคารจะมีสาขาก็จริง มีผู้บริหารที่ส่งมาจากส่วนกลางบ้าง แต่ในระบบคอมปะโดร์เขาก็จะเอาผู้มีฐานะคหบดีในแต่ละพื้นที่เข้ามาทำหน้าที่เป็นนายหน้าหาลูกค้าที่จะมาฝากเงิน กู้เงิน” คุณพิชิต วนาเฉลิม อดีตรองผู้จัดการเครือข่าย สาขาภูมิภาค ธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด มหาชน ให้ข้อมูล
ระบบคอมปะโดร์ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จนถึงช่วงพุทธศักราช 2507-2508 จึงเริ่มยกเลิกระบบนี้ มาเป็นการบริหารโดยผู้บริหารที่มาจากส่วนกลางบ้าง ส่วนในพื้นที่บ้าง ส่วนการให้บริการของธนาคารโดยทั่วไป ยังเป็นบริการที่ไม่ซับซ้อน มีเพียงการรับฝากเงิน และ ให้กู้เงินธรรมดา ยังไม่มีการบริการพวกเอกสารทางการเงินต่างๆ หรือว่าธุรกิจ ธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับทางด้านต่างประเทศ ซึ่งธุรกรรมพวกนี้ต้องไปติดต่อที่สำนักงานส่วนกลาง หรือสำนักงานใหญ่แต่ละแห่ง
ในยุคที่ยังดำเนินการด้วยระบบคอมปะโดร์ ในสมัยนั้นธนาคารแลนด์แอนด์เฮาส์ ยังเป็นธนาคารไทยพัฒนา จากนั้นจึงเปลี่ยนมาเป็นธนาคารมหานคร ก่อนจะประสบปัญหาหนี้เสีย (NPL;Non Performing Loan) ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ธนาคารบนถนนศรีจันทร์จึงล้มหายไป 1 ธนาคาร ภายหลังจึงเปลี่ยนเป็นธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮาส์
“ในยุคก่อน 2500 ยังไม่มีธนาคารกรุงไทยนะ ยุคนั้นยังเป็นธนาคารเกษตร และ ธนาคารมณฑล ภายหลังสองธนาคารนี้จึงควบรวมกันเป็นธนาคารกรุงไทย” คุณพิชิตขยายความ
ส่วนธนาคารเพื่อการเกษตรและสกหกรณ์ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่ออาคารสงเคราะห์ ที่เริ่มเข้ามาเปิดสาขาภายหลัง ไม่ได้จัดเป็นธนาคารพาณิชย์ แต่เป็นธนาคารที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติ ของแต่ละงาน อย่าง ธ.ก.ส.ก็จัดตั้งขึ้นเพื่อมาดูแลเกษตร ธนาคารอาคารสงเคราะห์ก็มาดูแลเรื่องที่อยู่อาศัย ส่วนธนาคารออมสิน จริงๆ ตอนนี้ก็ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ แต่เป็นธนาคารที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการออม แต่ทำธุรกรรมต่างๆ คล้ายธนาคารพาณิชย์
การเข้ามาของธนาคารแห่งประเทศไทย
ในช่วงที่ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้นำพาธนาคารแห่งประเทศไทยให้เป็นธนาคารกลางเพื่อการพัฒนา ไม่เพียงแต่พยายามชักจูงให้ธนาคารพาณิชย์เข้ามาทำหน้าที่ตัวกลางทางการเงิน ให้สอดรับกับความต้องการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเท่านั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยยังมองไปข้างหน้าถึงความจำเป็นที่ต้องมีตลาดทุน จึงได้ริเริ่มให้มีการศึกษาโครงการตลาดทุนขึ้นในพุทธศักราช 2512 ซึ่งในที่สุดนำไปสู่การจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมทั้งการจัดตั้งโรงพิมพ์ธนบัตร และ การเปิดสำนักงานสาขาในต่างจังหวัด โดยสาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้จัดตั้งที่จังหวัดขอนแก่น ตามแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ที่วางแผนให้จังหวัดขอนแก่นเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภาคอีสาน
โดยธนาคารแห่งประเทศไทย สาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อได้ก่อตั้งขึ้นมา ก็ได้เข้ามาดูแลในเรื่องของการเป็นตัวแทนที่จะให้ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ เข้ามาจัดตั้งเป็นสำนักหักบัญชี คำว่าสำนักหักบัญชีก็คือ ธนาคารพาณิชย์ในจังหวัดขอนแก่นจะมีการนำเช็คที่แต่ละธนาคารได้รับฝากจากลูกค้า เพื่อไปแลกเปลี่ยนกัน เรียกว่า “ทำดุลหักบัญชี”
ซึ่งก่อนที่จะมีธนาคารแห่งประเทศไทย จะใช้วิธีว่า แต่ละธนาคารจะเอาเช็คไปยื่นให้แต่ละธนาคาร เพื่อที่จะทำตัวที่จะหักดุลกัน เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยเข้ามาก็เลยมาเป็นตัวกลางให้
นอกจากนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยยังทำหน้าที่รับฝากเงิน-แลกเปลี่ยนเงินให้กับสถาบันการเงิน มีหน้าที่ออกตราสารทางการเงินต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับส่วนราชการ ให้การสนับสนุนทางการเงิน เป็นต้นว่า ตั๋วเงินเกี่ยวกับเรื่องเกษตรกรรม หรือการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ
หน้าที่หลักๆ ก็จะมีอีกหลายอย่างเป็นต้นว่า งานด้านวิชาการ งานวิจัยภาวะเศรษฐกิจ นอกจากนี้ก็ยังทำหน้าที่เป็นผู้กำกับดูแลสถาบันการเงินโดยเข้าไปตรวจสอบการดำเนินงานเพื่อให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์
จากคลังเงินตราสู่คลังสมอง
เมื่อมีการย้ายหน่วยงานราชการต่างไปยังศูนย์ราชการที่สนามบินเก่า จากศาลจังหวัดขอนแก่นจึงกลายเป็นที่ทำการธนาคารแห่งประเทศไทย ภายหลังเมื่อครบกำหนดสัญญาที่ขอใช้พื้นที่ของกรมธนารักษ์ ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้ย้ายที่ทำการมาบนพื้นที่ของตนบริเวณบึงแก่นนคร
และในพุทธศักราช 2560 ได้เริ่มมีการปรับพื้นที่ บูรณะตัวอาคาร และปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เป็นพิพิธภัณฑ์กรมธนารักษ์ ขณะนี้ตัวอาคารปรับปรุงเสร็จเรียบร้อยและเปิดให้บริการความรู้แก่ประชาชนผู้สนใจเรื่องเงินตราภาคอีสานแล้ว ส่วนรอบนอกอยู่ระหว่างการปรับปรุงภูมิทัศน์ ซึ่งมีกำหนดการแล้วเสร็จประมาณเดือนกรกฎาคมปีหน้า
ภายในตัวพิพิธภัณฑ์นำเสนอเรื่องราวของเงินตราภาคอีสานเป็นหลัก แบ่งออกเป็น 3 ส่วนเนื้อหา โดยส่วนแรกบอกเล่าถึง “ธนารักษ์พัฒนา” เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการทำงานของกรมธนารักษ์ รวมถึงแนะนำพิพิธภัณฑ์ในสังกัดกรมธนารักษ์ที่มีอยู่ทั่วประเทศ
สำหรับนิทรรศการส่วนที่ 2 เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ “เงินตราภาคอีสาน” เล่าถึงวิวัฒนาการการใช้เงินตั้งแต่อดีตของชาวอีสานในยุคอาณาจักรล้านช้างเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
และนิทรรศการส่วนสุดท้าย จะเป็นการ “เล่าเรื่องเมืองขอนแก่น” ตั้งแต่ในช่วงยุคการพัฒนาเศรษฐกิจ ตั้งแต่พุทธศักราช 2500 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นช่วงของการเริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 มีการวางเป้าหมายโครงสร้างพื้นฐานให้ขอนแก่นเป็นศูนย์กลางภาคอีสาน
โครงสร้างพื้นฐาน เช่น มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล ธนาคารแห่งประเทศไทย มีสิ่งอำนวยความสะดวกและความบันเทิงต่างๆ เนื่องจากมีผู้คนเข้ามาอยู่มาก เราจะได้เห็นภาพบรรยากาศในห้องนิทรรศการผ่านวิดีโอ “นิราศขอนแก่น 2500”
ดรุณ (สำราญ และ ประชาสำราญ) : เติบโตเปลี่ยนแปลง
โซนศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเป็นบริเวณที่ประกอบด้วยถนน 2 สาย คือ “ถนนดรุณสำราญ” และ “ถนนประชาสำราญ” เป็นสถานที่สำคัญที่ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของเศรษฐกิจของเมืองขอนแก่น
การมาถึงของรถไฟ
การมาถึงของรถไฟที่จังหวัดขอนแก่น ในวันที่ 1 เมษายน พุทธศักราช 2476 ได้นำพาเอาความเจริญและความเปลี่ยนแปลงต่างๆ เข้ามา รถไฟไม่ได้มาซึ่งความเจริญเท่านั้น แต่ยังเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนด้วย เกิดธุรกิจการค้าและอาชีพใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นกรรมกร กิจการโรงแรม หรือแม้แต่ซ่องโสเภณี และโรงฝิ่น
และหลังจากการใช้งานมาอย่างยาวนาน ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วน จากสถานีรถไฟแบบดั้งเดิมจึงเกิดโครงการสถานีรถไฟลอยฟ้าในโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงจิระ – ขอนแก่น ขึ้น โดยเริ่มต้นก่อสร้างตั้งแต่เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2559 มีระยะทางก่อสร้างรวมทั้งหมด 187 กิโลเมตร รวม 18 สถานี
การเปิดให้บริการโครงการรถไฟทางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระ - ขอนแก่น และสถานีรถไฟลอยฟ้าจังหวัดขอนแก่นได้ช่วยเพิ่มความสะดวก รวดเร็วในการเดินทางโดยรถไฟมากยิ่งขึ้น เนื่องจากไม่ต้องรอสับเปลี่ยนทาง อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความปลอดภัย และลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุที่บริเวณจุดตัดเสมอระดับทางรถไฟกับรถยนต์ ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้บริการรถไฟในการเดินทาง ตลอดจนเป็นการส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวภายในจังหวัดขอนแก่น ช่วยลดระยะเวลาการเดินทางจากชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่นจาก 3 ชั่วโมง เหลือเพียง 1 ชั่วโมง 20 นาที และช่วยลดเวลาการขนส่งสินค้าจากเดิม 6 ชั่วโมง เหลือเพียง 2 ชั่วโมง 30 นาที สามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นจาก 2 ล้านคนต่อปี เป็น 10 ล้านคนต่อปี เลยทีเดียว
อาคารบ้านพักรถไฟ
การมาถึงของสถานีรถไฟขอนแก่น เกิดขึ้นจากอิทธิพลด้านเศรษฐกิจของจังหวัด มีการพัฒนาด้านคมนาคมขนส่งโดยการสร้างสถานีรถไฟขึ้น พร้อมกับบ้านพักสำหรับบุคคลากรของการรถไฟ เป็นสถาปัตยกรรมรูปแบบโคโลเนียลที่ได้รับอิทธิพลมาจากสถาปัยกรรมยุคล่าอาณานิคม มีการผสมผสานระหว่างแบบบ้านฝรั่งกับความเป็นอยู่แบบไทยที่เป็นเมืองแดดจัดและมีฝนตกชุก โดยการออกแบบระเบียงบ้านกว้าง มีเสารองรับชายคาเรียงตัวกันอย่างเป็นจังหวะต่อเนื่องกันอย่างลงตัว
ตลาดน้อย
“ที่จริงแล้วแถวตลาดน้อยน่ะ เจริญมาก่อนที่อื่นๆ เลยนะ” รุ่นเก๋าระดับอายุ 70 ปีขึ้นไป ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกัน ซึ่งน่าจะเป็นเพราะการสร้างสถานีรถไฟขึ้นที่นี่ พร้อมกับบ้านพักสำหรับบุคลากรของการรถไฟไทย ถือได้ว่าเป็นยุครุ่งเรืองอีกยุคหนึ่งของเมืองขอนแก่น และเริ่มมีการเข้ามาอยู่อาศัยของชุมชนตลาดน้อย
โดยในช่วงปี 2500 ต้นๆ จะเป็นช่วงที่มีความคึกคักในส่วนที่เรียกว่า “ตลาดน้อย” มาก เพราะมีชาวบ้านเอาของพื้นบ้านอย่างผัก ปลา มาขายกันในช่วงเช้าริมถนน เป็นระยะทางประมาณ 200 เมตร
ไม่เพียงแค่เพราะการมาถึงของรถไฟ อีกสาเหตุที่ทำให้ถนนดรุณสำราญ หรือ ตลาดน้อยเดิม เป็นแหล่งที่คึกคัก อาจจะเป็นเพราะบริเวณใกล้เคียงมีโรงสี 2 แห่ง คือ “โรงสีทวีแสงไทย” (ด้านหลังสถานีรถไฟ) และ “โรงสีกลาง” (ตรงเซ็นทรัลพลาซ่า) ซึ่งชาวบ้านหรือเกษตรกรได้นำข้าวเปลือกมาขายโรงสี เมื่อขายเสร็จก็เอาเงินมาจับจ่ายใช้สอย ซื้อข้าวของอุปโภคบริโภค และเล้าหมูแถวนั้นก็สามารถซื้อรำจากโรงสีมาเลี้ยงหมูที่เล้าในบริเวณใกล้เคียงได้
คำว่า “เล้าหมู” ในภาษาปัจจุบันเรียกฟาร์มหมู สมัยนั้นผู้ที่เลี้ยงหมูมีอยู่หลายเจ้าทั้ง 2 ฟากฝั่งถนน พอแม่หมูออกลูก ก็ขุนลูกจนโตแล้วจึงต้อนไปโรงฆ่าสัตว์ เพราะฉะนั้นผู้ที่เลี้ยงหมูยังเป็นพ่อค้าเนื้อหมูชำแหละในตลาดสดเทศบาล 1 ด้วย
ปรับปรุงเพื่อเปลี่ยนแปลง
ปัจจุบันบ้านเก่าสไตล์ที่เรียกว่า “จิ่มแจ้” ที่สร้างขึ้นในยุค 2490-2510 ในบริเวณตลาดน้อยยังคงมีอยู่หลายหลัง บางหลังได้ซ่อมแซมร่วมกับสถาปนิกในการปรับปรุงเชิงอนุรักษ์เป็นร้านกาแฟเก๋ไก๋ เช่น “ร้านรักอัน คอฟฟี่” และ “ร้าน Wooden House Crepe and Beverage”
อาคารครึ่งปูนครึ่งไม้กลุ่มนี้เป็นวัฒนธรรมการสร้างอาคารบ้านเรือนของชาวจีน ที่มักจะเว้นที่ไว้สำหรับสร้าง “จิ่มแจ้” คือ ลานเปิดโล่งเห็นท้องฟ้าที่กลางบ้าน บริเวณนี้จะมีพื้นลดต่ำลงกว่าพื้นบ้านประมาณ 6-10 นิ้ว เป็นความชาญฉลาดทางสถาปัตยกรรม ทั้งในด้านชีวิตและจิตวิญญาณ คือ เป็นช่องแสงธรรมชาติและถ่ายเทอากาศให้กับตัวบ้าน รวมทั้งความเชื่อตามหลักฮวงจุ้ยคือทำให้มีการหมุนเวียนของลม เป็นการถ่ายเทพลังงาน และการมีบ่อน้ำอยู่กลางบ้าน เปรียบเสมือนการมีขุมทรัพย์กลางบ้าน ทำให้บ้านนั้นอุดมสมบูรณ์นำมาซึ่งเจริญรุ่งเรือง
ปัจจุบันจิ่มแจ้ของร้านไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์เพื่อการครัวแล้ว แต่กลายเป็นมุมศึกษาประวัติศาสตร์ที่ทางร้านจัดแสดงนิทรรศการถาวรไว้ ที่ผู้มาใช้บริการสามารถมาถ่ายรูปชิคๆ ที่บริเวณนี้ได้
ที่พักแรมทาง
สำหรับบริเวณศาลเจ้าพ่อหลักเมืองส่วนหนึ่งสมัยนั้นได้ทำเป็นศาลาใต้ถุนสูงเปิดโล่ง เรียกว่า “ศาลาสุขใจ” เพื่อให้ผู้ที่เดินทางผ่านไปมา สามารถนั่งพักคลายความเหนื่อย เด็กหลายคนชอบไปเล่นบริเวณนั้นเพราะว่ามีของหวานพวกน้ำแข็งไสใส่ของเชื่อมต่างๆ ขายที่บริเวณศาลาสุขใจด้วย
เมื่อประชาธิปไตยมาถึงขอนแก่น
ถัดจากศาลเจ้าพ่อหลักเมืองมี “อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย” ที่สร้างขึ้นในปี 2486 ในการสร้างอนุสาวรีย์นี้มีจุดเริ่มต้นจากแนวความคิดของนายจำรัส มหาวงศ์นันท์ สามาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดน่าน ที่เสนอให้อัญเชิญรัฐธรรมนูญจำลองไปยังจังหวัดต่างๆ เพื่อให้ประชาชนยึดเหนี่ยวและเป็นที่พึ่งในช่วงปลายเดือนมกราคม 2477
ต่อมาจึงมีการสร้างรัฐธรรมนูญจำลองขึ้น 70 ชุด โดยมีหลวงวิจิตรวาทการเป็นผู้ควบคุมดูแล โดยประสานกับหลวงประดิษฐ์มนูธรรมในเรื่องการออกแบบ จนได้มาเป็นสมุดไทยลงรักปิดทองบนพานสองชั้น ให้เป็น “พานรัฐธรรมนูญ” ซึ่งสะท้อนถึงแนวคิดความเป็นของบูชาอันศักดิ์สิทธิ์ เนื่องจากพานสองชั้นที่เรียก “พานแว่นฟ้า” ปรกติจะใช้รองรับสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่เคารพเทิดทูนในสถาบันพระมหากษัตริย์หรือพระพุทธศาสนา เช่น เครื่องราชกกุธภัณฑ์ หรือ พระบรมสารีริกธาตุ
ถนนคู่ขนาน
ส่วน “ถนนประชาสำราญ” บริเวณที่เป็นสถานีดับเพลิงนั้น เคยเป็นสนามมวยเก่า เรียกว่า “สนามมวยบดินทร์เดชา” ตอนนั้นพื้นที่ที่เป็นเทศบาลนครขอนแก่นยังเป็นพื้นที่ว่างเปล่า ส่วนตรงที่เคยเป็นแหล่งท่องเที่ยวกลางราตรี (Hitech) เคยเป็นโรงเรียนชื่อว่า “โรงเรียนบำรุงไทย” ย้อนจากโรงเรียนมาจะเป็นท้องนา เป็นบ้านที่อยู่อาศัย ทั้งบ้านเดี่ยว บ้านใต้ถุนสูง ประปราย จนมาถึงสามแยกตัดกับถนนรื่นรมย์ จะมีโรงภาพยนตร์ชื่อ “โรงภาพยนตร์เย็นวัฒนา”
ในยุคสมัยนั้นถือว่าโรงภาพยนตร์โรงนี้อยู่ไกลจากแหล่งชุมชนมาก แต่ก็พอจะมีคนไปดูอยู่พอสมควร เนื่องจากเป็นโรงภาพยนตร์ใหม่ เก็บค่าดูในราคาไม่แพง เพียง 2 บาท เท่านั้น สมัยนั้นยังไม่มีแอร์ แต่ที่เรียกว่า “เย็นวัฒนา” ก็เพราะว่าตัวอาคารสร้างด้วยคอนกรีต เลยจะเย็นกว่าที่อื่นอย่างบันเทิงจิตร ตรงถนนรื่นจิตร ที่บางส่วนยังเป็นสังกะสี และโรงหนังขอนแก่นที่ยังเป็นไม้ ปัจจุบันโครงสร้างเดิมของโรงหนังยังคงอยู่แต่ได้เปลี่ยนเป็นร้านกินดื่มสำหรับนักเที่ยวราตรีแล้ว
รื่น (รมย์) : ยังคงรื่นอารมณ์
“รื่นรมย์” เป็นชื่อถนนที่ฟังแล้วให้รู้สึกปลอดโปร่งโล่งใจเป็นที่ยิ่ง ในขณะที่ภาพเบื้องหน้าเป็นถนนคอนกรีตรถราวิ่งขวักไขว่ ภาพของถนนรื่นรมย์ในยุคสมัย 2500 จากปากคำของรุ่นใหญ่ยังคงเป็นทุ่งนาป่าตาลเงียบวังเวงที่เด็กๆ ไม่กล้าผ่าน ใกล้กับตลาดยังมีโรงแรมไม้ 2 ชั้น ชื่อว่า “โรงแรมเขากระดึง” ฝั่งตรงข้ามของโรงแรมโรงเรียนเอกชนชื่อว่า “ศิริศาสตร์”
พระธรรมขันต์โอสถ โรงพิมพ์พระธรรมขันต์ สู่ The Wall พื้นที่สร้างสรรค์ใหม่ของถนนรื่นรมย์
นอกจากตำนานคำบอกเล่าแล้ว สถานที่ก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ด้วย บนถนนรื่นรมย์มีกิจการร้านค้าอยู่ร้านหนึ่งที่เรียกได้ว่าอยู่คู่ถนนรื่นรมย์มากว่า 50 ปีแล้ว… “พระธรรมขันต์” แน่นอนว่าไม่มีสิ่งใดจีรังยั่งยืนโดยไม่ผ่านการปรับตัว พื้นที่เคยเป็นทั้งโรงงานผลิตยาแผนโบราณ โรงพิมพ์ และนาทีนี้คือ family space
“ยาสตรีตราพระปิดทวารๆ แก้โรคผอมแห้ง ให้แข็งแรง มีน้ำมีนวลเมื่อบำรุงด้วยยาสตรีตราพระปิดทวาร…” เสียงสปอร์ตโฆษณายาแผนโบราณของพระธรรมขันต์โอสถที่คุ้นหูจากวัยเด็ก
พระธรรมขันต์โอสถเริ่มต้นการจากนายชู (พระธรรมขันต์รุ่นที่ 1) ได้ตำรายาแผนโบราณมาฉบับหนึ่งชื่อ “พระธรรมขันต์โกฏ” คุณทวดชูมองเห็นแววของลูกชาย (นายโบ ตราชู) ว่ามีความเป็นนักวิทยาศาสตร์ ชอบค้นคว้า เพราะตอนเด็กๆ จะชอบทำผงซักฟอก ยาหม่อง มาให้คนลองใช้ ก็เลยมอบตำรับยาพระธรรมขันต์โกฏให้ เมื่อคุณปู่โบศึกษาสำเร็จ จึงไปสอบได้เป็นเภสัชกรแผนโบราณ พระธรรมขันต์ก็ก่อร่างสร้างตัวเป็นโรงงานผลิตยา อยู่ที่บ้านเมืองเก่าในวัดธาตุ ปี 2481
ต่อมากิจการดีขึ้นก็อยากขยับขยาย จึงบริจาคที่ดินให้ทางวัดไป แล้วมาเปิดกิจการที่ถนนรื่นรมย์ในปี 2508 ซึ่งในยุคนั้นคนเรียก “พระธรรมขันต์ทุ่งนา” เพราะบริเวณโดยรอบยังเป็นทุ่งนาอยู่ จากกิจการร้านขายยาแผนโบราณขยับขยายเพิ่มเติมกิจการโรงพิมพ์เข้ามา และเมื่อกิจการดำเนินมาถึงรุ่นที่ 4 “คุณวชิระ ตราชู” จึงถึงเวลาปรับเปลี่ยนอีกครั้ง
โปรเจกต์พื้นที่สร้างสรรค์ใหม่เริ่มจากคมคิดของ “อัลแบร์ กามูต์” ในข้อที่ว่า “การได้รักใครสักคน” จึงนำเอาความต้องการ ความสุข ของแต่ละคนให้มารวมกันให้เป็น family space เสีย แล้วก็ใส่ความเป็นตัวตนของคุณวชิระเข้าไปจากความชื่นชอบศิลปะสตรีท อาร์ทที่ปีนัง กลายเป็น “The wall family space”
ไม่เพียงแค่พระธรรมขันต์เท่านั้นที่มีการปรับตัว พื้นที่อื่นๆ ก็เริ่มมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้เป็นพื้นที่ที่เหมาะกับสังคมสร้างสรรค์เช่นกัน
“ละพอแต่เปิดผ้าม่านกั้ง ผ้าม่านกั้ง สาวหมอลำสิพาม่วน…” : การเปิดตัวของบ้านพักทัมใจ
เมื่อเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ ในส่วนของภาคอีสานปักหมุดที่ขอนแก่น ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้กรมประชาสัมพันธ์ขยายบริการสื่อวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์มายังจังหวัดขอนแก่น เพื่อใช้เป็นช่องทางการสื่อสารและกระจายข่าวสารจากรัฐบาลและส่งเสริมการเผยแพร่ศิลปะวัฒนธรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนการเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ในช่วงพุทธศักราช 2504
เดิมผู้ที่จะเป็นหมอลำได้ต้องเป็นผู้รอบรู้ คือทั้งรู้หนังสือและมีความรู้รอบตัว จึงจะสามารถเล่าเรื่องผ่านกลอนลำได้อย่างสนุกสนาน ทำให้หมอลำเป็นผู้นำในหลายๆ เรื่อง เมื่อ “บริษัทโอสถสภาเต็กเฮงหยู จำกัด” เข้ามาเปิดสำนักงานในซอยรื่นรมย์ 1 เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายผู้บริโภค จึงใช้หมอลำมาเป็นเครื่องมือในการขายยาอย่างปวดหาย ทัมใจ ลิโพวิตันดี ในบริเวณถนนรื่นรมย์จึงกลายเป็นชุมทางหมอลำ และเกิดบ้านพักทัมใจ ทำหน้าที่เป็นเอเจนซี่ให้กับบริษัทโอสถสภาฯ
“การเกิดบ้านพักทัมใจ พี่ว่ามันเกิดมาในยุคเดียวกันกับ หมอลำยาแผนโบราณ ฉายหนังขายยา หน้าบ้านก็มีกระแสกับเขาเหมือนกัน สมัยนั้นที่บ้านก็ให้มีห้องหนึ่งเป็นเอเจนซี่ ชื่อ สำนักงานสมศรีพัฒนา ยังจำได้ว่าชอบไปเล่นกับแกแล้วก็ดูโปสเตอร์หมอลำ เป็นภาพจำตอนเด็กๆ เลย ไปเล่นซ่อนหาก็ตรงนั้นละ มีลุงแก่ๆ นั่งคอยจัดคิวว่าจะเอาหมอลำตรงไหนไปเล่น มันก็เชื่อมกันประมาณนี้” คุณวชิระ ทายาทพระธรรมขันต์รุ่นที่ 4 เล่าถึงความทรงจำของเขาต่อชุมทางหมอลำ
กลาง (เมือง) เรื่องปากท้อง
ขอเพียงมีเสียงจากกระเพาะเรียกร้อง ไม่ว่าจะเช้า สาย บ่าย เย็น เพียงมุ่งไปถนนกลางเมืองรับรองไม่ผิดหวัง แต่ที่จริงถ้าย้อนกลับไปในช่วงพุทธศักราช 2500 โซนถนนกลางเมืองเป็นถนนสายงานราชการก็่ว่าได้ ก่อนที่จะเกิดการปรับเปลี่ยนผังเมืองให้เป็นย่านเศรษฐกิจ ที่เราฝากท้อง
ขอนแก่นช่วงนั้นเป็นเมืองที่สวยงามมาก ใกล้กับศาลากลางจะเป็นสวน มีน้ำพุ มีหอนาฬิกา ผู้คนจะไปนั่งพักผ่อนหย่อนใจกันที่สวนนี้ เด็กๆ มักจะไปเล่นว่าวกัน ถนนหนทางร่มรื่นมาก…ในยามที่ผู้อาวุโสแต่ละท่านเล่าถึงอดีตอันสวยงามของเมือง ดวงตาต่างทอแววอ่อนโยน ขอให้พวกเราลองหลับตาแล้วใช้หัวใจดื่มด่ำกับภาพในอดีตนั้นไปพร้อมกัน
เริ่มต้นที่สี่แยกถนนกลางเมืองตัดกับถนนนิกรสำราญ เป็นจุดที่คิวรถบ้านไผ่-อำเภอเมือง จอดเทียบท่ารอผู้โดยสารอยู่ บริเวณนั้นจะมีสำนักงานปศุสัตว์และโรงฆ่าสัตว์ (ปัจจุบันคือโรงเรียนเทศบาลสวนสนุกไปแล้ว)
เรื่อยมาบ้านพักเจ้าหน้าที่สรรพากร (ปัจจุบันคืออาคารพาณิชย์) ตรงหัวมุมถนนกลางเมืองตัดกับถนนรื่นรมย์จะเป็นเรือนจำ (ปัจจุบันคือตลาดสดเทศบาล 1) ฝั่งตรงข้ามเรือนจำเป็นที่ทำการศูนย์มาลาเรีย (ปัจจุบันเป็นอาคารพาณิชย์)
สี่แยกถัดมาเป็นโรงเรียนเทศบาลสวนสนุก (ปัจจุบันเป็นตลาดโบ๊เบ๊) มีเพียงโรงเรียนสตรีกัลยาณวัตร องค์การโทรศัพท์ สถานีตำรวจ และที่ทำการไปรษณีย์ที่ยังคงเดิม ส่วนฝั่งตรงข้ามที่ทำการไปรษณีย์นั้นเป็นศาลากลางจังหวัด เทศบาล (ปัจจุบันเป็นตลาดบางลำภู)
ถัดมาเป็นแยกที่ถนนกลางเมืองตัดกับถนนศรีจันทร์ หัวมุมเป็นศาลจังหวัด (ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณ์) ติดกันเป็นโรงเรียนขอนแก่นวิทยายน เดิมก่อนเป็นโรงเรียนชายล้วนและเปลี่ยนเป็นโรงเรียนสหศึกษาที่ปัจจุบันอายุ 125 ปีแล้ว
ปัจจุบันสำนักงานราชการได้เปลี่ยนไป กลายเป็นอาคารพาณิชย์ ตามแผนการสร้างย่านเศรษฐกิจ ในพุทธศักราช 2508 หลังจากขอนแก่นบังคับใช้ผังเมืองฉบับแรก ภาคราชการจึงเริ่มตั้งหน่วยงานราชการประจำจังหวัด และประจำภูมิภาค เช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขอนแก่น ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข สำนักงานขนส่งทางบก รวมทั้งได้ย้ายศาลากลางจังหวัดขอนแก่นหลังเก่า มาอยู่บริเวณสนามบินเดิมเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคาทรงไทยประยุกต์
เมื่ออิ่มท้องสมองก็พร้อมเรียนรู้…
หลังจากสถานที่ราชการย้ายไปแล้ว ตลาดเทศบาลจึงเข้ามาแทนที่เรือนจำ ร้านรวงอาคารพาณิชย์ต่างๆ เริ่มตั้งหลัก และการเข้ามาของร้านอาหาร
กระยาทิพย์
ร้านข้าวราดแกงหัวมุมตลาดสดเทศบาล 1 ที่ชาวขอนแก่นฝากท้องกันมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ จนถึงรุ่นหลาน ทั้งผัดกะเพรารสจัดจ้าน พะแนงรสชาติเข้มข้น หมูทอดที่หมักหอมๆ แกงจืดร้อนๆ ซดคล่องคอ ไปจนถึงกับข้าวเอาใจคนท้องถิ่นอย่าง “ป่น” ก็ยังมี
ร้านอาหารไทยกระยาทิพย์ดำเนินกิจการมาตั้งแต่พุทธศักราช 2488 โดย “อาม่าอุดม เสงี่ยมพุทธคุณ” เมื่อตลาดสร้างเสร็จจึงขึ้นไปขายบนตลาด ต่อมาในรุ่นของ “คุณป้ากาญจนา เสงี่ยมพุทธคุณ” จึงได้จับจองทำเลหัวมุมเปิดเป็นร้านอาหาร ปัจจุบัน “คุณปวีณา เสงี่ยมพุทธคุณ” นับเป็นรุ่นที่ 3 ที่เป็นหัวเรือใหญ่ในการดำเนินกิจการ
เจ้อิม
พักท้องสักครู่ไปไปเดินย่อยที่ร้านขายของฝากเก่าเก่าแก่คู่ถนนกลางเมือง แม้จะเป็นร้านเล็กแต่รสชาติเด็ดขาด ร้านขายของฝากแห่งนี้เปิดกิจการมากว่า 40 ปีแล้ว ขายของฝากประเภท ไส้กรอกอีสาน กุนเชียง หมูหย็อง ซึ่งทางร้านมีโรงงานเป็นของตัวเอง จึงสามารถผลิตได้เอง และไม่ว่าหมูจะแพงอย่างไรคุณภาพไม่เปลี่ยนไปแน่นอน
ร้านก๋วยเตี๋ยวเป็ดเจ๊เสี่ยง
ถึงตอนนี้ข้าวสวยจากร้านข้าวแกงเริ่มเรียงเม็ดแล้ว เดี๋ยวเราไปต่อกันที่ ร้านเกี๋ยวเตี๋ยวเป็ดเก่าแก่เจ้านี้อยู่ถัดจากร้านเจ๊อิมไปสักหน่อย ตามกลิ่นน้ำซุปหอมๆ ไปร้านจะอยู่ในตรอกข้างร้านคลังนานาธรรม อย่าเห็นว่าเป็นร้านรถเข็นแล้วจะมองข้ามความอร่อยไปได้เชียว
ร้านก๋วยเตี๋ยวเป็ดเจ๊เสี่ยง เปิดกิจการมาห้าสิบปีแล้ว ขายมาตั้งแต่รุ่นพ่อ คือ “อาแปะฉอนซุ่น” (นายอ๋า แซ่ตั้ง) ก่อนจะส่งต่อกิจการให้กับเจ้เสี่ยง (คุณสิรินยา ตันติภักดี) ทายาทรุ่นที่ 2
น้ำซุปเดือดพล่านด้วยแรงฟืนส่งกลิ่นหอม เป็ดเนื้อนุ่มที่เจ้เสี่ยงเลาะกระดูกอย่างประณีตไหลลื่นลงสู่กระเพาะอย่างว่าง่าย…อิ่มอุ่น
ก๋วยเตี๋ยวเป็ดเจ้เสี่ยงต้องกินคู่กับน้ำเก๊กฮวย หอม หวานชื่นใจ เจ้าข้างๆ เป็นลูกเล่นลับที่ชาวตลาดเทศบาล 1 รู้กัน
อาหารเหลา
ร้านอาหารบนถนนกลางเมืองไม่ได้มีแค่สตรีทฟู้ดเท่านั้น ภัตตาคารระดับตำนานก็มีถึง 2 ร้าน ด้วยกัน
“สมัยก่อนเวลาจัดงานแต่งงานแบบมีหน้ามีตา ถ้าไม่ไปจัดที่ สามหงวน ก็ต้อง คาเธ่ย์ นี่ละ” รุ่นใหญ่ในจังหวัดตอบเป็นเสียงเดียวกัน
ภัตตาคารสามหงวน
ปัจจุบันภัตตาคารสามหงวนปิดกิจการไปแล้ว และเปลี่ยนมือผู้ประกอบธุรกิจไปหลายรอบ เคยเป็นทั้งโรงเรียนกวดวิชา อินเตอร์เน็ตคาเฟ่ และได้วนกลับมาเปิดร้านอาหารจีนสไตล์วัยรุ่นในชื่อ “ชางหลง” ที่มาของชื่อมาจากสไตล์การสั่งอาหารแบบ “ชั่งโล” (คิดราคาตามน้ำหนักวัตถุดิบที่ชั่งได้) จึงคิดหาคำจีนที่พ้องเสียงกัน จึงไปได้คำว่า “ชางหลง” ที่หมายถึง “โชคดี” และในยามค่ำคืน ขอเชิญเดินขึ้นบันหินขัด ใช้มือสัมผัสผนังประดับแผ่นกระเบื้องดินเผาอย่างลักษณะสถาปัตย์ในยุคโมเดิร์นสไตล์ 2500 ก้าวสู่ชั้นบนของร้านอาหารที่เปิดเป็นบาร์ในบรรยากาศย้อนยุคอีกด้วย
ภัตตาคารคาเธย์
เมื่อภัตตาคารในตำนานสามหงวนปิดกิจการไป ยังคงเหลือ “ภัตตาคารคาเธย์” ที่ยังดำเนินกิจการอยู่ภายใต้รุ่นที่ 2 คือ “แปะตี๋” ที่รับช่วงต่อมากว่า 40 ปีแล้ว
สมัยก่อนยังไม่มียังไม่มีโรงแรม งานแต่งงานก็เลยต้องจัดที่ภัตตาคาร บางคนก็จัดที่หอประชุมของโรงเรียนจะดูโก้หน่อย จัดทีละ 50 ถึง 60 โต๊ะ
สำหรับใครที่สนใจอาหารจีนประยุกต์ฝีมือพ่อครัววัยเก๋า อาจจะต้องไปเป็นทีม เพราะอาแปะตี๋ทำจานเล็กๆ ไม่เป็น อย่างวันนี้ที่นัดสัมภาษณ์กันนี้ก็เป็นเจ้าของร้านนั้นละที่เป็นผู้ประกาศิตว่าเมนูวันนี้จะเป็นผู้เลือกเตรียมให้เอง ทั้งราดหน้า อันธพาลครองเมือง มะม่วงดองเกี๊ยวปลา ขนมจีบ ถั่วยัดไส้หมู ขาหมูเปรี้ยวหวาน ข้าวเหนียวยัดไส้หมู ขนมเปี๊ยะฟักทอง ซาลาเปาฝอยทอง เผือกทอด โอนีแปะก๊วย ละลานตาเต็มโต๊ะ แต่ในบรรดาอาหารเลิศรสมีเมนูที่น่าสนใจคือ “อันธพาลครองเมือง”
“เมนูนี้มีจริงๆ นะ ช่วงปี 2499 ฮิตมากแถววังหลัง วังบูรพา พวกฝรั่ง G.I. เป็นคนเอาเข้ามา ไม่เกี่ยวอะไรกับหนังดังในอดีต” แปะตี๋เล่าถึงประวัติของเมนูตรงหน้า เรื่องรสชาติไม่ต้องพูดเยอะเจ็บคอ ยกดาวให้ทั้งฟ้าไปเลย
โรงแรมไม้แห่งสุดท้าย
สุดสายของถนนกลางเมืองยังมีประวัติศาสตร์ที่ยังมีชีวิตอยู่อีกแห่ง เป็นโรงแรมไม้แห่งสุดท้ายของเมืองขอนแก่น “โรงแรมแสนสำราญ” โรงแรมไม้แห่งนี้เริ่มกิจการโดย “คุณบุญยัง สาระบูรณ์” ปัจจุบันส่งมอบกิจการให้รุ่นหลาน คือ “คุณมนตรี สาระบูรณ์” เป็นผู้ดูแลต่อไป
บันไดไม้นำฉันขึ้นไปยังชั้นบนของโรงแรม พื้นไม้กระดานเป็นรอยด้านจากการถูกเหยียบย่ำ ฝาผนังเป็นช่องลูกฟักมีโปสเตอร์สัตว์น้ำในประเทศไทย และ สุนัขพันธุ์ต่างๆ ติดอยู่ ให้ความรู้สึกเหมือนกลับไปยังบ้านเก่าในชนบท
“ทุกครั้งที่ไปขอนแก่น พักที่นี่ ได้บรรยากาศเหมือนนอนในเซ็ตกองถ่าย ช่วงที่ผมไปพักมีห้องน้ำในห้องแล้ว แต่ยังใช้ก๊อกน้ำรุ่นเก่าอยู่ ผมเคยนอนทั้งชั้นบนและชั้นล่าง” คุณจิม สุนทร มีศรี นักแสดงอาวุโสให้ข้อมูล
ถนนหน้าเมือง
หากพูดถึงโซนเศรษฐกิจกลางเมือง ถนนอีกเส้นที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้เลย คือ “ถนนหน้าเมือง” เพราะห่างกันแค่เพียงตลาดกั้นเท่านั้น ในช่วงที่มีการย้ายหน่วยงานราชการไปยังศูนย์ราชการแห่งใหม่ เพื่อสร้างพื้นที่ทางเศรษฐกิจ ถนนกลางเมืองและถนนหน้าเมืองจึงมีความเจริญเติบโตในฐานะย่านเศรษฐกิจควบคู่ไปพร้อมกัน
นับจากด้านหลังเรือนจำยาวไปจนถึงแนวรั้วของศาลากลางเก่า จะเป็นที่ว่างเปล่าสลับกับบ้านอยู่อาศัย ตรงแนวรั้วของศาลากลางเก่าด้านนี้จะมีสโมสรข้าราชการ สนามเทนนิส และห้องสมุดประชาชน อีกฝั่งหนึ่งใกล้กับบริเวณที่เป็นธนาคารกสิกรไทย สาขาถนนหน้าเมืองในปัจจุบัน เป็นโรงเรียนนันทวิทยา
ตรงที่หัวมุมสี่แยกถนนหน้าเมืองตัดกับถนนศรีจันทร์จะเป็นบ้านสองชั้นครึ่งตึกครึ่งไม้ ต่อมาได้กลายเป็นอาคารเตียวฮง ซึ่งในยุคสมัยหนึ่งเป็นตึกที่สูงที่สุดในขอนแก่น พอข้ามสี่แยกถนนหน้าเมืองตัดกับถนนศรีจันทร์ ที่หัวมุมปากซอย 5 พฤศจิกา จะเป็นธนาคารนครหลวงไทย ถัดไปก็เป็นร้านจำหน่ายอะไหล่รถยนต์ เครื่องเหล็ก ไปจนตลอดแนว…
ในยุคสมัยพุทธศักราช 2500 ถนนหน้าเมืองยังมีอาคารร้านรวงต่างๆ ไม่มาก จนกระทั่งพุทธศักราช 2508 ที่มีการย้ายหน่วยงานราชการออกไป ในขณะที่ถนนกลางเมืองเริ่มมีความคึกคักทางเศรษฐกิจ แล้วถนนคู่ขนานอย่างถนนหน้าเมืองจะเป็นอย่างไรบ้าง ต้องลองถามชาวต่างถิ่นที่อพยพเข้ามาเปิดกิจการ และผ่านช่วงเวลาการเปลี่ยนแปลงของถนนสายนี้มาจนปัจจุบัน
“คุณแม่พรนิภา พรพิชิตโยธิน” แห่งร้านแก่นนครยานยนต์ ปัจจุบันคุณแม่อายุ 78 ปีแล้ว แต่ความจำเมื่อตอนอพยพโยกย้ายเข้ามาทำมาสร้างตัวที่จังหวัดขอนแก่นยังชัดเจนอยู่ ท่านเล่าว่า เดิมเป็นคนอำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ พ่อแม่ก็พานั่งเกวียนอพยพโยกย้ายเข้ามาอยู่ในขอนแก่น ภายหลังแต่งงานตามสามีไปอยู่จังหวัดหนองคาย และได้ย้ายกลับมาในปี 2509
ในตอนที่ท่านกลับมาอยู่ใหม่ๆ นั้น ถนนยังเป็นลูกรัง ห้องแถวเพิ่งเปิดขาย ห้องหนึ่งราคา 45,000 บาท ตอนนั้นห้องแถวเป็นปูนแล้ว เพิ่งก่อสร้างมีคนอยู่ไม่กี่คน มีร้านวิสูทร (ขายวัสดุก่อสร้าง ปัจจุบันขายให้ร้านนัทขายหมู) และคลินิกหมอสามารถ
ส่วนพวกอาหารการกิน คนในสมัยนั้นเขาก็จะกินกันง่ายๆ อย่างก๋วยเตี๋ยว ก๋วยเตี๋ยวร้านหอยก็มีมาตั้งแต่สมัยแม่แล้วนะ นอกนั้นก็จะเป็นโต้รุ่งร่วมจิตร แล้วก็พวกรถเข็นขายอาหารข้างทางซอยตรงข้ามไปรษณีย์
เมื่อแหล่งข้อมูลเล่าถึงร้านอาหารเก่าแก่แบบนี้เห็นทีต้องตามไปลอง เริ่มต้นด้วย…
ร้านก๋วยเตี๋ยวเฮียหอย
ปัจจุบันร้านเปิดกิจการมากว่า 60 ปีแล้ว แม้จะมีหลายหลายสาขา แต่สาขาถนนหน้าเมืองคือที่แรก บุกเบิกกิจการตั้งแต่รุ่นอากง “เฮียหอย แซ่เซียว” ปัจจุบันผู้สานต่อกิจการ เป็นรุ่นหลานแล้ว คือ “คุณคุนหมิง เซียวศิริกุล”
น้ำซุปรสเข้ม เนื้อสดหวาน ลูกชิ้นกรอบเด้ง รสชาติของวัตถุดิบทุกอย่างกลมเกลียว นอนอุ่นอยู่ในท้อง นอกจากนี้ทางร้านยังเพิ่มเมนูตามสั่งที่ปรุงจากเนื้อ เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของลูกค้าอีกด้วย
ก๋วยเตี๋ยวไฮ้บริการ
เดิมเป็นร้านขายผ้า แล้วจึงเปลี่ยนมาเป็นร้านก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลา ประมาณปี 2527 โดย “คุณวิทยา แซ่ฮื้อ” หรือ “นายไฮ้” แต่เดิมขายอยู่ข้างที่ว่าการอำเภอบางกะปิ (สมัยนั้นยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงการดูแลพื้นที่เป็นเขตบางกะปิ) กรุงเทพมหานคร เนื้อปลาที่นำมาทำลูกชิ้นเป็นเนื้อปลาอินทรี วันไหนไม่มีปลาอินทรีจึงใช้ปลาดาบเพราะมีรสชาติใกล้เคียงกัน หลังจากนายไฮ้เสียชีวิตไปเมื่อพุทธศักราช 2553 “คุณนันทา แซ่ลิ้ม” จึงมาถือบังเหียนกิจการต่อ
ร้านอาหารที่น่าลิ้มลองไม่ได้มีเพียงร้านก๋วยเตี๋ยวเท่านั้น ในยุคหลังยังมีรถเข็นแผงลอยยามค่ำคืนอย่างโจ๊กจั๊บบัตรคิว ส้มตำปริญญา ก็น่าสนใจไม่น้อย
มนต์เสน่ห์ของโซนกลางเมืองยังไม่สิ้นมนต์ขลัง ยุคสมัยที่ปรับเปลี่ยนไปทำให้มีร้านฝากท้องเพิ่มขึ้น ทั้งแบบแผงลอย และร้านน่านั่ง ยังรอให้เรามาพิสูจน์รสชาติ
(ร่วม) จิตรชื่นบานย่านวัยรุ่น
บนถนนศรีจันทร์ยังมีซอยเล็กๆ ที่กินบริเวณ 2 ฟากฝั่งถนน ถึงจะเป็นซอยเล็ก แต่จะไม่เล่าถึงก็ไม่ได้เชียว ค่าในความเป็นถนนที่ไม่เคยหลับใหล เป็นถนนสายแฟชั่น เป็นถนนที่เป็นจุดรวมตัวของวัยรุ่น
ซอยร่วมจิตรในยุค 2500 ถัดจากปากซอยเข้าไป ตรงที่เป็นร้านเอกชัยเบเกอรี (เดิมคือภัตตาคารสามหงวน) ซ้ายมือเป็นร้านตัดผม 2 ร้าน ฝั่งตรงข้าม เป็นร้านหนังสือเก่าแก่ชื่อ ร้านสุวิมล จากนั้นจะเป็นอาคารพาณิชย์ยาวประมาณ 10 คูหา ชั้นบนเป็น โรงแรมสันติสุข และร้านขายของพวกอุปโภคบริโภค ถัดไปจึงเป็นโรงภาพยนตร์บันเทิงจิตร ในยุคนั้นตลาดโต้รุ่งยังไม่มี
ฝั่งตรงข้ามบริเวณที่เป็นตลาดโต้รุ่งในปัจจุบัน เป็นบ้านพักของเจ้าหน้าที่ศาลและผู้พิพากษาเหมือนในปัจจุบัน ถัดจากบริเวณบ้านไป จะเป็นบ้านไม้สองชั้นตลอดแนวจนถึงบริเวณสามแยก ถนนร่วมจิตรตัดกับถนนอำมาตย์ จะเป็นตลาดเรียกว่า ตลาดสมบูรณ์ ต่อมาภายหลังประมาณพุทธศักราช 2510 จึงเปลี่ยนจากตลาดมาเป็น โรงหนังเจ้าพระยา ปัจจุบันเป็นที่โล่งว่างเปล่า
วัยรุ่นขอนแก่นเขาไปเฟี้ยวกันที่ไหน?
“คุณหมอกำจร ดวงแก้ว” อายุ 88 ปี เป็นแพทย์แผนปัจจุบันประจำสถานประกอบการ “คลินิกหมอกำจร” ซึ่งอยู่ติดกับตลาดโต้รุ่งร่วมจิตร ท่านได้ย้ายมาอยู่ขอนแก่นตั้งแต่พุทธศักราช 2499 โดยทางกระทรวงสาธารณสุขได้ส่งมาเป็นนายแพทย์ประจำหน่วยโรคเรื้อน ขอนแก่น จนกระทั่งพุทธศักราช 2522 จึงได้มาเปิดคลินิกที่ข้างตลาดโต้รุ่งร่วมจิตร คุณหมอเล่าว่า
ขอนแก่นเมื่อก่อนเป็นเมืองเล็กๆ ตลาดสดยังมีเพียงแห่งเดียวเป็นของเทศบาล มีเกวียนจอดกันเรียงราย อีกอย่างที่เห็นคือสามล้อ เมื่อก่อนตลาดโต้รุ่งมีเพียงโต้รุ่งร่วมจิตรแห่งเดียว ซึ่งก็คึกคักมาก จะเงียบอยู่ประมาณตี 3 ถึง ตี 4 ประมาณ 1 ถึง 2 ชั่วโมง หลังจากนั้นคนที่ขายของตอนเช้าเขาจะเริ่มมา
คิวรถมหาวิทยาลัยขอนแก่นก็จอดอยู่ตรงนี้เต็มไปหมดเลย วิ่งแค่มหาวิทยาลัยกับโต้รุ่งร่วมจิตร ซึ่งนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเขาก็มาเที่ยวตลาดโต้รุ่ง มันมีตู้เพลง เพลงวัยรุ่นยุค 60 70 80 และโรงหนังซึ่งในบริเวณนั้นมีอยู่ด้วยกัน 3 โรง คือ บันเทิงจิตร (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นร่วมจิตร) เจ้าพระยา และ ขอนแก่นซีนีม่า ซึ่งอยู่อีกฟากหนึ่งของถนนศรีจันทร์ ช่วงงานวันเด็กจะมีฉายหนังฟรี อย่างเรื่องซุปเปอร์แมน ภายหลังเพราะพิษเศรษฐกิจ โรงหนังขอนแก่นซีนีม่าจึงปรับเปลี่ยนมาฉายหนังเอาใจหนุ่มๆ แทน
ถนนสายแฟชั่น
ซอยร่วมจิตรไม่เพียงแค่มีตลาดโต้รุ่ง หรือ โรงหนังที่วัยรุ่นมารวมตัวกันเท่านั้น แต่ถนนเล็กๆ สายนี้ยังเป็นถนนสายแฟชั่นด้วย ทำไมถนนสายนี้จึงมีแต่ร้านตัดเสื้อผ้า ไปฟังเรื่องราวจากห้องเสื้อร้านแรกในซอยร่วมจิตรกัน “ร้านทรงประดิษฐ์”
เสียงทักทายเมื่อผลักประตูเข้าไปว่า “รับประทานอะไรดีครับ” ทำให้งุนงงงไปชั่วขณะ นั่นเป็นเพราะปัจจุบันห้องเสื้อนั้นปิดตัวไปแล้ว และปรับเปลี่ยนเป็นร้านอาหารฝรั่งเศสชื่อ “เชนู” (Chez Nous) แทน แต่ทุกสิ่งทุกอย่างยังแจ่มชัดในความทรงจำของ เชฟอู๊ด “คุณณรงค์พล ศิริสวัสดิ์” ผู้เป็นทายาทของห้องสูทดังในอดีต
ห้องเสื้อยุคบุกเบิก
หากกางแผนที่ของยุค 2500 ซีซาร์อาบอบนวดยังคงเป็นหนองสะแบง ร้านตัดเสื้อทรงประดิษฐ์แห่งแรกจะอยู่ฝั่งตรงข้ามหนอง ตรงบริเวณที่เรียกว่า “สี่แยกหนองคู” ต่อมาจึงย้ายเข้ามาในซอยร่วมจิตรตรงตึก PT Telecom ภายหลังโรงแรมสันติสุข ซึ่งเป็นโรงแรมชั้น 1 ในยุคนั้นได้เลิกกิจการ “คุณสมชาย ยิ้มศิริ” ซึ่งเป็นเจ้าของตึกที่โรงแรมเคยเช่าอยู่ จึงได้ประกาศแบ่งห้องขาย ในยุคสมัยนั้นราคาห้องละประมาณ 2-3 แสนบาท และได้อยู่มาจนถึงปัจจุบัน
ผู้นำด้านการขายตรง
ร้านทรงประดิษฐ์เป็นร้านแรกก็ว่าได้ที่มีการขายแบบขายตรงและให้เครดิต โดย ตัดเสื้อผ้าแล้วมีการวางเงินดาวน์แล้วหักเงินทีหลังตอนเงินเดือนออก ทำให้คนในอำเภอ ในเทศบาล ในศาลากลาง คนรุ่นเก่าตั้งแต่อายุ 70-80 ปี จะรู้จักร้านทรงประดิษฐ์เป็นอย่างดี
“ผู้ว่าคนใหม่ถ้ายังไม่มาร้านทรงประดิษฐ์ ถือว่ายังมาไม่ถึงขอนแก่น”
ร้านทรงประดิษฐ์มีชื่อเสียงด้านการตัดสูท แล้วคุณพ่อของเชฟเป็นคนค่อนข้างเนี้ยบ มีระบบเช็คหลายขั้นตอน ทั้งการทำแพทเทิร์น และรายละเอียดทุกอย่างเป็น hand finish ทั้งหมด เช่น การตัดเย็บกางเกง ที่ชายกางเกงจะไม่มีการเย็บ จะใช้มือสอยแบบดำน้ำ ทำให้ไม่เห็นรอย แล้วก็รังดุม คุณแม่ของเชฟจะถักเป็นตัวหนอนเอง
สมัยก่อนร้านเสื้อผ้าสำเร็จรูปยังไม่ค่อยมี ถึงมีก็ไม่ค่อยสวย เพราะการตัดจะต้องดูคน เราจะใช้แพทเทิร์นอย่างเดียวไม่ได้ ซึ่งร้านทรงประดิษฐ์จะมีความเข้าใจในเรื่องสรีระ ว่าแต่ละคน มีรูปร่างไม่เหมือนกัน ข้อแรกต้องใส่แล้วสบาย ข้อสองใส่แล้วต้องเข้ากับรูปร่าง จนมีคำพูดว่า “ผู้ว่าคนใหม่ถ้ายังไม่มาร้านทรงประดิษฐ์ถือว่ายังมาไม่ถึงขอนแก่น”
ถนนสายบูติค
สมัยก่อนร้านตัดชุดของผู้หญิงและผู้ชายจะแยกกัน ในซอยร่วมจิตรที่แยกถัดตรงข้ามตลาดโต้รุ่งไปจะมีร้านตัดชุดสำหรับสุภาพสตรีคือ “ร้านศรีจันทรา” ซึ่งจะเอาของจากกรุงเทพฯ มาขายด้วย เช่น รองเท้าหรือกระเป๋าที่ใช้แล้วไม่เหมือนใคร ถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดมาร้านทรงประดิษฐ์ คุณนายผู้ว่าฯ ก็จะไปร้านศรีจันทรา ทั้งสอง ร้านจะมีแฟชั่นที่นำสมัย
“ที่ถนนเส้นนี้มีแต่ร้านตัดเสื้อ ก็เป็นเพราะ 2 ร้านนี้แหละ เพราะว่าเริ่มต้นขึ้นมา ถนนเส้นนี้ก็จะมีร้านหนึ่งคือร้านทรงประดิษฐ์ ร้านหนึ่งคือร้านศรีจันทรา จากนั้นลูกน้องก็ออกไปตั้งร้านต่างๆ ก็ตั้งใกล้นี่ละ พวกที่ตัดเสื้อผ้าก็จะบอกว่า ผมเป็นลูกน้องร้านทรงประดิษฐ์ พวกผู้หญิงก็จะบอกว่าเคยเป็นนักเรียนศรีจันทรา” เชฟอู๊ดเล่าถึงความทรงจำในร้านตัดผ้าพลางลูบคลำสูทตัวสุดท้ายไปด้วย
ปัจจุบันร้านตัดสูททรงประดิษฐ์เลิกกิจการไปแล้วและเปิดเป็นร้านอาหารฝรั่งเศสเลิศรส “Chez Nous” ที่บรรยากาศในร้านยังคงความเป็นห้องเสื้อในยุค 2500 ได้อย่างเก๋ไก๋
ความรุ่งเรืองของย่านศรีจันทร์ในยุค 2500 สิ้นสุดลงที่ซอยร่วมจิตรนี่เอง ประวัติศาสตร์เมืองขอนแก่น ไม่ได้เป็นเพียงขี้เถ้ามอดแล้วกองหนึ่ง ในส่วนลึกของมันยังมีไออุ่น รอให้เราเอื้อมมือลงไปสัมผัสความรู้สึกมีชีวิตชีวาและความงดงามของความเก่าทว่ายังเก๋านั้นอยู่
Comments