top of page
  • Writer's pictureSRICHAN CLUB

Lifebrary ห้องสมุดชีวิต : อาชีพนี้ก็มีด้วยหรอ ? #1 "ธุรกิจสร้างสรรค์เกี่ยวกับความตาย"

Updated: Jun 18, 2022



TCDC ขอนแก่น ภายใต้การดำเนินงานของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ขอนแก่น ขอพาทุกคนไปรู้จักกับกิจกรรม Lifebrary ห้องสมุดชีวิต กิจกรรมที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก Human Library หรือ ห้องสมุดมนุษย์ มูลนิธิ Roskilde ประเทศเดนมาร์ก แต่มีการปรับรูปแบบให้เหมาะสมกับความเป็น TCDC มากขึ้น โดยนำเจ้าของธุรกิจสร้างสรรค์ตัวจริง เสียงจริง มานั่งตอบทุกข้อสงสัยแบบตัวต่อตัว ในธีม “อาชีพนี้ก็มีด้วยหรอ?” หมวดหมู่ “ธุรกิจสร้างสรรค์เกี่ยวกับความตาย”

คุณ…คิดถึงความตายวันละกี่ครั้ง? วัฏจักรของชีวิตเราคงหนีไม่พ้น การเกิด การแก่ การเจ็บ และการตาย แม้ว่าหลายคนฝันอยากจะมีชีวิตที่ยืนยาวแค่ไหน TCDC จึงอยากจะพาทุกคนไปรู้จักกับธุรกิจสร้างสรรค์ที่จะทำให้เรามองความตายอย่างเป็นมิตรมากขึ้น




1. “เบาใจ Family” อย่าผลักไสความตาย เพราะเราเลือกวางแผนได้ สนับสนุนให้ทุกครอบครัว พูดถึงการดูแลกันเมื่อช่วงเวลานั้นมาถึง

คุณปิญชาดา ผ่องนพคุณ (กอเตย) เจ้าของธุรกิจให้คำปรึกษาครอบครัว “เบาใจ Family” เล่าว่าธุรกิจนี้เกิดขึ้นมาประมาณ 3 ปี เป็นเพราะว่าตัวเองทำงานเป็น Death planer มาหลายปีแล้วสังเกตเห็นว่าคนในครอบครัวมีการพูดคุยกันเรื่องความตายกันน้อยโดยเฉพาะกลุ่มคนที่เป็นผู้สูงวัยและกลุ่มเด็ก เราเลยอยากเข้าไปเป็นตัวกลางในการสื่อสารเรื่องความตายให้กับครอบครัวที่ไม่กล้าคุยกัน ทำให้เขาเหล่านั้นสามารถวางแผนการตายได้อย่างเหมาะสม

เมื่อทุกคนต้องตาย ควรเริ่มวางแผนการตายเมื่อไหร่?

สำหรับการวางแผนเรื่องเตรียมตัวตายเรามองว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่มีเวลาระบุชัดเจน ขึ้นอยู่กับว่าคนนั้นเขาตระหนักเรื่องนี้ได้เมื่อไหร่ แค่เพียงคุณรู้สึกว่าความตายมันเริ่มใกล้เข้ามาหาตัวเองหรือคนในครอบครัว คุณก็สามารถเดินเข้ามาหาเราได้เลย นอกจากนี้การรับคำปรึกษาของ เบาใจ Family ยังให้คุณค่ากับการรักษาแบบประคับประคองสำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้าย ภายใต้แนวคิดทุกคนสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะสุดท้ายได้ โดยอันดับแรกเราต้องตั้งคำถามและตอบตัวเองให้ได้ว่า “อยากให้คุณค่ากับอะไรในวาระสุดท้ายของชีวิต” ซึ่งข้อนี้สำคัญไปถึงกาย ใจ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกรักษาที่บ้านหรือโรงพยาบาล ในส่วนของด้านจิตใจเราต้องการแบบไหน ไม่ว่าจะเป็นการให้คนที่รักมาอยู่รายล้อม หรืออยากขออยู่คนเดียว ลึก ๆ แล้วเราไม่ได้กลัวการป่วยระยะสุดท้าย แต่สิ่งที่คนส่วนใหญ่กลัวคือการทรมานจากความเจ็บปวด ซึ่งทุกคนมีสิทธิ์ในการเลือกยาระงับปวดในปริมาณที่เราต้องการโดยอยู่ในการควบคุมของแพทย์ ถ้าวันนั้นมาถึงแล้วสื่อสารไม่ได้คงเป็นเรื่องยากที่เราต้องตัดสินใจ การวางแผนไว้ล่วงหน้าอาจเป็นการลดความเสี่ยงได้ดี

เบาใจ Family มีการให้คำปรึกษาครอบครัวอย่างไร?

การให้คำปรึกษาของเบาใจคือการให้ครอบครัวที่เข้ารับการปรึกษาได้พูดคุยกันก่อน โดยเริ่มจากความต้องการพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็น สถานพยาบาลที่ต้องการรักษา การให้ยื้อชีวิตหรือไม่ให้ยื้อหากถึงระยะสุดท้าย หลังจากนั้นจะเป็นเรื่องของสภาพจิตใจ นอกเหนือจากผู้ให้คำปรึกษาที่เป็นตัวกลางในการสื่อสารแล้วยังมีสมุดเบาใจที่เป็นรูปแบบการวางแผนให้ครอบครัวเขียนเพื่อใส่รายละเอียดยิบย่อย เช่น บรรยากาศที่อยากจะอยู่ เพลงหรือหนังสือเสียงที่อยากฟัง เพื่อทำให้ครอบครัวรู้ทิศทางการดูแลรักษาผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้ดีที่สุด ตามสิ่งที่อยากจะเป็น

ความหลงใหลที่มีต่ออาชีพนี้?

จากการที่คุณกอเตยได้เริ่มวางแผนการตายไว้ตั้งแต่อายุ 27 เธอมีความรู้สึกว่าอาชีพนี้มีมิติที่น่าสนใจและน่าค้นหา ประกอบกับการที่คุณพ่อเป็นผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายทำให้เธอเห็นว่า กว่ามนุษย์คนหนึ่งจะถึงวาระสุดท้ายมันยังมีเรื่องราวของชีวิตบางส่วนที่สวยงาม เราจะส่งให้เขาจากไปด้วยดีได้อย่างไร คุณกอเตยจึงอยากจะนำเอามันมาเป็นงานส่งต่อให้กับผู้อื่น และคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับทุกคน





2. “Death Design” เตรียมไว้ก่อนตาย ดีไซน์งานศพในแบบของคุณ คุยกับผู้ที่เคยออกแบบงานศพให้ “นิ้วกลม”

คุณวรรณา จารุสมบูรณ์ (สุ้ย) เจ้าของธุรกิจดีไซน์งานศพ Death Design ประธานกลุ่ม Peaceful Death เป็นกลุ่มที่พัฒนาเครื่องมือการเรียนรู้ในรูปแบบต่าง ๆ ตลอดจนพัฒนากลไกทางสังคมและวัฒนธรรม ให้เอื้อต่อการเผชิญกับความตายอย่างสงบ ในขณะเดียวกันก็เกื้อกูลชีวิตและสังคมให้ก้าวหน้า

จุดเริ่มต้นและแรงบันดาลใจของ ธุรกิจ “Death Design”?

คุณสุ้ยเริ่มจากการทำงานเกี่ยวกับวางแผนการตายกับกลุ่ม Peaceful Death มาเป็นเวลานานทำให้เห็นทั้งการตายดีและตายไม่ดีซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการตายที่ไม่ดี เหตุผลหลักที่เห็นได้ชัดเลยคือการขาดการวางแผนซึ่งเราจะคิดแค่ว่าถ้าเจ็บป่วย จะไปรักษาที่ไหนแต่ลืมคิดไปว่าถ้าจุดหนึ่งเราไม่มีชีวิตอยู่บนโลกนี้แล้ว เราอยากให้คนที่เรารักหรือลูกหลานดูแลจัดงานศพอย่างไร หรือหลายเคสที่เจอกับการสูญเสียเขาตั้งตัวไม่ถูกไม่รู้จะต้องเริ่มต้นยังไง มันเป็นช่วงเวลาที่เคว้ง ถ้าเราเข้าไปช่วยบริหารจัดการกระบวนการตั้งแต่เริ่มต้นงานศพจนจบ มันคงจะช่วยผู้ที่กำลังพบเจอกับความสูญเสียรู้สึกดีขึ้น อีกอย่างที่สำคัญคือคุณสุ้ยและทีมมองว่าถ้าหากขยายธุรกิจนี้ขึ้นในสังคมได้ ก็คงเป็นเรื่องที่ดี

ความแตกต่างระหว่างการทำธุรกิจความตายในกรุงเทพฯ และขอนแก่น?

เรื่องของวัฒนธรรม ความเชื่อ หรือค่านิยม เป็นตัวแปรที่สำคัญที่ทำให้เห็นความแตกต่าง หลายคนในต่างจังหวัดยังคุ้นเคยกับวัฒนธรรมประเพณีที่เคยทำต่อกันมาอย่างยาวนานเราจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมมากที่สุด แต่เราก็พยายามปรับเรื่องของพิธีให้มีความเรียบง่ายแต่สร้างความหมายมากยิ่งขึ้น นอกเหนือจากพิธีที่ทำต่อกันมา ทำให้ผู้ที่มาร่วมไว้อาลัยเห็นคุณค่าของทุกกระบวนการมากยิ่งขึ้น

ดีไซน์งานศพที่เป็นที่นิยม?

ในปัจจุบันคนที่มารับบริการ Death Design ต้องการงานศพที่มีความเรียบง่าย ไม่สิ้นเปลือง และการจัดงานศพที่ตระหนักถึงการรักษ์โลกใช้ทรัพยากรน้อย ลดการเผากระดาษให้ได้มากที่สุด แต่ยังคงเป็นพิธีที่มีความหมายกับผู้ตายและญาติ เราว่าคนเริ่มหันมาสนใจกับการให้คุณค่าเชิงจิตใจมากกว่าพิธีรีตองที่หลายขั้นตอน

ความหลงใหลที่มีต่ออาชีพนี้?

คุณสุ้ยเล่าว่า ถือเป็นโอกาสที่ดีมากที่เราจะแปรเปลี่ยนน้ำตาให้เป็นความซาบซึ้งทางจิตใจ แปรเปลี่ยนความสูญเสียเป็นพลังของความรัก ทำให้สมาชิกในบ้านที่อยู่ในช่วงยากลำบากได้เข้าใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติสามัญของการเกิดเป็นคน เราอยากให้เขาเก็บความรู้สึกนั้นมาเป็นแรงใจในการดำเนินชีวิตต่อ การได้ช่วยออกแบบช่วงเวลาสุดท้ายให้กับคนที่เรารักหรือตัวเราเองมันคงจะไม่เกิดความรู้สึกผิดหรือเศร้าเสียใจเกินไป คงจะเป็นแค่ความรู้สึกอาลัย มันจึงเป็นความหลงใหลที่คุณสุ้ยมีให้กับอาชีพ Death Design อาชีพที่ทำให้คนที่สูญเสียคนรักไปสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้จากการออกแบบช่วงเวลาสุดท้ายที่ดี





3. “ร้านรับฝากความเศร้า” บริการรับฟังและให้คำปรึกษาแก่ผู้ที่มีความเครียดทุกรูปแบบ เพราะความทุกข์คนเราไม่เท่ากัน

คุณธิดาวรรณ หยกอุบล (ธิ) เจ้าของธุรกิจร้านกาแฟ Mug The Café และร้านรับฝากความเศร้าแห่งเดียวในจังหวัดขอนแก่น เป็นธุรกิจสำหรับคนที่อยากเข้ามาพูดคุยปรึกษาและระบายความเครียด นอกจากการมานั่งดื่มกาแฟแล้วก็ยังเป็นพื้นที่สำหรับผู้ที่ต้องการอยากจะปรึกษาพูดคุยกัน โดยรูปแบบของการเข้ามารับคำปรึกษาจะมีการจองคิวผ่านทางเพจ Facebook “ร้านรับฝากความเศร้า” ซึ่งธุรกิจนี้ไม่ได้มีเพียงพี่ธิคนเดียวที่ดำเนินการ แต่มีกลุ่มอาสาสมัครที่ได้รับการฝึกเกี่ยวกับการพูดคุยปรึกษามาช่วยกันให้บริการผู้ที่ต้องการจะลดหรือระบายความเครียด

จุดเริ่มต้นของธุรกิจ “ร้านรับฝากความเศร้า”?

เริ่มต้นจากการที่คุณธิมีทักษะและประสบการณ์ในการรับฟังผู้อื่น อีกทั้งมีสถานที่เป็นร้านกาแฟจึงทำให้มีผู้คนแวะเวียนเข้ามาหาพูดคุยกันอยู่เรื่อย ๆ อีกแรงขับเคลื่อนที่ทำให้เกิดร้านนี้ขึ้นมาเพราะว่าได้รับการสนับสนุนจากคนรอบตัวให้ริเริ่มธุรกิจนี้แบบจริงจัง จึงเกิดเป็นโครงการร้านรับฝากความเศร้า ที่ใช้สถานที่ภายใน Mug The Café เป็นสถานที่ให้ผู้คนได้มาพบเจอกัน รวมทั้งเปิดรับอาสาสมัครที่ต้องการอยากจะเป็นผู้รับฟังเพื่อช่วยแบ่งเบาความเศร้าหรือความเครียดให้กับเพื่อนร่วมโลก

ความท้าทายของการทำธุรกิจนี้?

คุณธิเล่าว่าความยากของการทำธุรกิจนี้คือ การทำงานกับความคิดหรือมุมมองของคน ยิ่งเป็นเรื่องความเศร้าแล้วคนส่วนใหญ่ไม่อยากที่จะยอมรับกับความรู้สึกเหล่านี้ ไม่ยอมให้ความรู้สึกนี้ได้ปรากฏตัวขึ้นมา จึงทำให้เป็นส่วนที่ยากและท้าทายในแง่ของการสื่อสารเวลาที่มีคนเข้ามาปรึกษา การที่ทำให้คนเข้าใจความเศร้าและเปิดใจรับมันเป็นสิ่งที่ท้ายทายสำหรับคนให้คำปรึกษาและผู้เข้ารับการปรึกษาเช่นกัน เพราะการเปิดเผยความเศร้าของคนเราไม่ใช่เรื่องง่าย

ความเศร้าที่คนส่วนใหญ่มาฝากกันเยอะ?

ความเครียด ความกดดัน ความกังวลเรื่องงาน จะเป็นปัญหาหลักที่ผู้เข้ารับการปรึกษาแวะเวียนเข้ามาหาเรา ความเศร้าจากเรื่องความรัก อกหักมีเข้ามาบ้างแต่ไม่ได้เยอะมาก พอผู้เข้ารับการปรึกษาเกิดความเครียดแล้ว เมื่อปฏิเสธอารมณ์อาจนำไปสู่อาการที่ทุกคนรู้จักกันดีคือ “อาการซึมเศร้า”

ทุกคนล้วนมีความเศร้าแต่การเปิดรับความเศร้าของเราไม่เท่ากัน

จากการที่คุณธิเปิดร้านรับฝากความเศร้ามาได้สักระยะทำให้เห็นว่าส่วนใหญ่แล้ว ผู้คนที่เข้ามาพูดคุยมีการเปิดใจยอมรับความเศร้าของตัวเองยังไม่มากนัก แต่ปัจจุบันก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นจากสถานการณ์ที่คนออกมาเปิดตัวว่าตัวเองเป็นซึมเศร้าหรือการตระหนักรู้ในเรื่องนี้เริ่มมีมากขึ้น มีหลายคนที่ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นอะไรทำไมถึงรู้สึกแบบนี้ คนเหล่านั้นเขาก็จะเดินเข้ามาหาเราเพื่อขอความช่วยเหลือ

ทำไมบางคนถึงไม่ยอมรับความเศร้า?

ส่วนใหญ่แล้วในกรณีแบบนี้จะเป็นคนที่เคยถูกปลูกฝังมาว่า การเศร้า แล้วร้องไห้ เท่ากับ อ่อนแอ หรือบางคนเกิดความกลัว กลัวที่จะเจ็บปวด กลัวว่าจะรับมันไม่ได้ ไม่ไหวกับความรู้สึกแบบนี้ ซึ่งนี่ก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น จริง ๆ แล้วความเศร้าของคนเราเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ

ความหลงใหลที่มีต่ออาชีพนี้?

ความหลงใหลของคุณธิไม่ได้มีอะไรพิเศษมากไปกว่าการอยากเห็นโลกหรือสังคมของเรามันน่าอยู่มากขึ้น คงดีถ้าเราเป็นใครสักคนอาจจะไม่ใช่คนสนิทของเขา แต่สามารถช่วยปลอบประโลมเขาในวันที่เศร้าและทุกข์ใจมาก ๆ จนไม่สามารถหาทางออกได้ อีกทั้งประสบการณ์ที่ได้รับจากผู้ที่เข้ามาปรึกษามันยิ่งใหญ่และเติมเต็มจิตใจของคุณธิได้มาก


ติดตาม Lifebrary ในหมวดหมู่ธุรกิจสร้างสรรค์ประเภทอื่น ๆ ได้ทาง Facebook Page: TCDC Khon Kaen



เรื่องและภาพ : ศิริลักษณ์ ภู่วาว

174 views0 comments
bottom of page