top of page
Writer's pictureSRICHAN CLUB

อาคารไม้และกลิ่นอายของเรื่องเล่า : Rak-An COFFEE 樂安

Updated: Jul 25, 2020



เรื่อง : พิมผกาพร พรเพ็ง

ภาพ : ปิยวดี ยอดบุดดี, อัญฐิริมาภรณ์ พิรุณสุนทร, สุทธิกานต์ ปัตตาลาโพธิ์



อาคารไม้เก่าแก่ อายุกว่า 65 ปีเรียงรายติดกันบริเวณถนนดรุณสำราญ ใกล้กันกับบริเวณศาลเจ้าพ่อหลักเมือง จังหวัดขอนแก่น สถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งการค้าเก่าแก่ของเมืองในยุคที่ขอนแก่นเริ่มขยับขยายศูนย์กลางทางเศรษฐกิจจากอำเภอบ้านไผ่ เข้ามายังพื้นที่ทางเศรษฐกิจแห่งใหม่ตามการเกิดขึ้นของทางรถไฟ เส้นทางการคมนาคมที่เชื่อมต่อหลายพื้นที่เข้าด้วยกัน ทำให้ถนนดรุณสำราญได้มีโอกาสต้อนรับผู้แสวงหาทำเลทางเศรษฐกิจจนกลายเป็นย่านการค้าที่คึกคักของอำเภอเมืองขอนแก่น หรือที่เรียกกันว่า “ย่านตลาดน้อย” เมื่อ 65 ปีที่แล้ว



เช่นเดียวกันกับอาคารไม้ของอากงเปงมง แซ่จู (จูตะวิริยะ) หนึ่งในชาวจีนโพ้นทะเลที่ย้ายถิ่นฐานการค้าเดิมจากอำเภอบ้านไผ่ เข้ามาอยู่ในย่านตลาดน้อยแห่งนี้ บ้านสองชั้นจำนวน 4 ห้องแถวออกแบบโดยนายช่างยิ่ง ช่างท้องถิ่นจากอำเภอบ้านไผ่ผู้ย้ายถิ่นฐานมาพร้อมกัน อากงสร้างบ้านหลังนี้ขึ้นจากความใส่ใจ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้ไม้อย่างไม้เต็ง ไม้รัง ไม้มะค่าโมง เป็นไม้นื้อแข็งคุณภาพดีที่ทำให้บ้านหลังนี้ยังมีโครงสร้างที่แข็งแรงและสมบูรณ์ เพราะถึงแม้จะมีตัวบ้านจะมีอายุมากว่า 65 ปี แต่ก็ยังคงสมบูรณ์และแทบไม่ต้องซ่อมแซมส่วนโครงสร้างเลยเมื่อเข้ามาปรับปรุงเพื่อเปลี่ยนให้บ้านกลายเป็นร้านกาแฟ


ย้ายมาอยู่ในตัวเมืองขอนแก่นอากงได้เริ่มทำธุรกิจร้านทองในยุคแรก บริเวณถนนศรีจันทร์ และขยายกิจการร้านรักอันเภสัช รวมถึงร้านทองรักอันในรุ่นที่ 2 บริเวณถนนหน้าเมือง โดยอาคารไม้แห่งนี้เป็นที่พักของเครือญาติจากเมืองจีนอยู่อาศัยมาสามชั่วอายุคน จนเครือญาติแยกย้ายกันออกไป จึงปิดบ้านไว้เป็นเวลาหลายปี ปัจจุบันอาคารไม้แห่งนี้ได้กลายเป็น รัก-อัน คอฟฟี่ ร้านกาแฟที่เกิดขึ้นจากความมุ่งมั้นตั้งใจของทายาทรุ่นที่ 3 คือ คุณโต้ง ประกิจ จูตะวิริยะ และอาจารย์เก๋ กีรติพร จูตวิริยะ สองสามีภรรยาผู้มองเห็นคุณค่าของอาคารไม้เก่าแก่ของครอบครัว จากบ้านไม้ที่ไม่ได้เปิดใช้งานมานาน ทั้งสองเปลี่ยนให้บ้านกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งด้วยการเชื้อเชิญกลุ่มคนที่รักในกลิ่นหอมของกาแฟและผู้หลงใหลในสถาปัตยกรรมท้องถิ่นได้เข้ามารู้จักและเรียนรู้เรื่องราวของอาคารไปพร้อมกับความอร่อยของกาแฟ



การปรับปรุงและซ่อมแซมอาคารรักอันแห่งนี้ได้รับความร่วมมือจากสองอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นั่นก็คือ อาจารย์หุย กุลศรี ตั้งสกุล และอาจารย์ทอมมี่ นพดล ตั้งสกุล สองอาจารย์ผู้มีความรู้และหลงใหลในสถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน ได้เข้ามาช่วยดูแลและปรับปรุงอาคารแห่งนี้ให้กลายเป็นร้านกาแฟที่พร้อมต้อนรับผู้คนจากทุกสารทิศ ในขณะเดียวกันอาจารย์ทั้งสองท่านก็ทำให้อาคารแห่งนี้สามารถเล่าเรื่องของตนเองให้กับใครต่อใครได้ฟังด้วยการปรับพื้นที่และการตกแต่งภายในที่แฝงไปด้วยประวัติของอาคาร รวมไปถึงฝีมือช่างแบบโบราณอีกด้วย



อาจารย์เก๋ เล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงสนุกสนานถึงเหตุผลและความตั้งใจในการเลือกเปิดธุรกิจร้านกาแฟ “เราเป็นคนชอบดื่มกาแฟ และคิดว่าช่วงวันพักผ่อนคนไทยชอบไปร้านกาแฟ มากกว่าจะไปพิพิธภัณฑ์หรือห้องสมุดต่างๆ ด้วยความที่เป็นอาจารย์ด้วยแล้ว เราก็จะคิดถึงการให้ความรู้สอดแทรกคู่กันไป ก็เลยคิดว่าถ้าเราทำให้ร้านเป็นร้านกาแฟกึ่งพิพิธภัณฑ์ มันก็จะเป็นสถานที่ที่เหมาะกับการมาพักผ่อนสำหรับทุกคน นอกจากจะได้เครื่องดื่มดีๆ แล้ว ยังได้รู้จักประวัติศาสตร์ของพื้นที่เมืองและสถาปัตยกรรมท้องถิ่นที่นับวันก็ยิ่งเหลือน้อยลงไปทุกที” จากจุดเริ่มต้นตรงนี้เองที่ทำให้อาจารย์ทั้งสองท่านลงมือปรับปรุงบ้านเก่าหลังนี้ให้กลายเป็นพื้นที่ (space) ที่ใครก็สามารถเข้ามาใช้งานได้ ไม่ว่าจะเป็นการพักผ่อนในช่วงวันหยุดสั้นๆ หรือการเข้ามาเรียนรู้ประวัติความเป็นมาของพื้นที่แห่งนี้



“การซ่อมแซมเราก็แทบจะไม่ได้เปลี่ยนอะไรมาก เพราะตัวอาคารมีโครงสร้างที่ค่อนข้างสมบูรณ์ แต่ก็รื้อพื้นไม้บริเวณชั้น 2 ออกไปบางส่วน ทำให้พื้นที่ชั้นหนึ่งและชั้นสองเปิดหากัน เพื่อให้ตัวอาคารสว่างขึ้น ทำให้ลูกค้าไม่รู้สึกถึงความมืดและทึบของอาคารไม้ แต่เราก็ไม่ได้รื้อออกทั้งหมด ยังเหลือตัวตงและคานไม้ที่รับน้ำหนักแผ่นไม้ ซึ่งเป็นโครงสร้างของพื้นไม้สมัยโบราณอยู่ ตรงนี้ตั้งใจไม่เอาออก เพื่อให้เห็นโครงสร้างเดิมของตัวตึก อีกทั้งยังเห็นถึงความละเอียดและเทคนิควิธีการทำบ้านไม้ในสมัยโบราณอีกด้วย” อาจารย์หุย กุลศรี เล่าให้เราฟังถึงการปรับเปลี่ยนพื้นที่บางส่วนของบ้านให้เหมาะกับร้านกาแฟในยุคปัจจุบัน อาจารย์ชี้ให้เห็นว่าการอนุรักษ์อาคารสถาปัตยกรรมโบราณอาจไม่จำเป็นต้องทำให้รูปร่างหน้าตาเหมือนเดิมทุกส่วน แต่อาจมีการปรับเปลี่ยนบางส่วนให้เข้ากับยุคปัจจุบัน แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงคุณค่าของตัวอาคารไม้เอาไว้ไม่เปลี่ยนแปลง



“การตกแต่งภายในเราก็อิงตามประวัติศาสตร์ของตัวตึกเลยนะ อย่างตรงบาร์กาแฟ เราก็ออกแบบเป็นตู้เก็บยาแบบโบราณ เพราะธุรกิจของครอบครัวคุณโต้งเคยเป็นร้านขายยามาก่อน ส่วนตู้หรือของตกแต่งต่างๆ ที่เห็นกัน ก็เป็นของจากยุคอากงเป็นส่วนใหญ่ แทบจะไม่ได้ซื้ออะไรใหม่เลย ของทุกชิ้นสภาพยังดีอยู่ จึงนำมาจัดแสดงเพื่อให้เด็กๆ ที่เกิดไม่ทันได้รู้จัก หรือถ้าใครที่เคยเห็นตอนเด็กๆ ก็คงสุขใจที่ได้เห็นของจากอดีตพวกนี้อีกครั้ง” อาจารย์หุยและอาจารย์เก๋ ผลัดกันเล่าถึงความตั้งใจในการทำให้ร้านกาแฟแห่งนี้ เป็นหนึ่งสถานที่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ตามความตั้งใจของทั้งสอง


บรรยากาศของ “รักอัน คอฟฟี่” อบอวลไปด้วยอดีตและความทรงจำร่วมอย่างที่เจ้าของพื้นที่และสถาปนิกที่ออกแบบตั้งใจอยากให้เป็น ด้วยรูปแบบของตัวอาคารและการตกแต่งส่วนต่างๆ ที่ยังคงสวยงามตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะผ่านมาแล้วกี่ยุคกี่สมัย รักอัน ยังคงเป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วย “รัก” (樂) ที่หมายถึงความสนุกสนาน และ “อัน” (安) ซึ่งแปลว่าความปลอดภัย ความสบายใจ ตามชื่อของร้านกาแฟในบ้านเก่าหลังนี้อย่างที่ผู้เป็นเจ้าของอยากให้คงอยู่ต่อไป



ไม่เพียงแค่สถานที่ตั้งของร้านเท่านั้นที่ถูกออกแบบด้วยความตั้งใจ รักอัน คอฟฟี่ ยังมีกาแฟคุณภาพดีที่คุณโต้งและอาจารย์เก๋ตั้งใจเลือกให้เป็นเครื่องดื่มที่ดีที่สุดสำหรับลูกค้าทุกคน ทั้งสองใส่ใจตั้งแต่การเลือกเครื่องเอสเปรสโซ่สำหรับสกัดกาแฟ เมล็ดกาแฟจากโรงคั่วที่มีชื่อเสียง ไปจนถึงการออกแบบเมนูในร้านและการบริการของบาริสต้า


สำหรับผู้ที่ชื่นชอบกาแฟนั้น ที่ร้านมีกาแฟให้เลือกถึง 2 โปรไฟล์ที่มีรสชาติกลมกล่อมแตกต่างกัน สำหรับคนที่ชอบกาแฟที่ให้ความสดชื่น ทางร้านมีเมล็ดจากบราซิลและไทยแบบคั่วกลางผสมผสานกัน ให้รสชาติที่หวานหอมช็อคโกแลต แต่ก็ติดเปรี้ยวนิดหน่อยเพิ่มความสดชื่น ส่วนใครที่ชอบกาแฟรสเข้ม หวานให้ความกลมกล่อม ที่ร้านก็มีเมล็ดคั่วเข้มจากประเทศลาว ให้ความหอมหวานที่หนักแน่นเหมาะที่จะดื่มเป็นกาแฟนม ซึ่งลูกค้าสามารถเลือกเมล็ดและเมนูได้ตามใจชอบ



เมนูเครื่องดื่มและขนมของที่ร้าน เต็มไปด้วยความพิถีพิถันและความใส่ใจจากบาริสต้า อย่างเมนู Orange Coffee ที่เป็นเมนูแนะนำของร้าน ความหอมของกาแฟไปกันได้ดีกับความหวานของส้ม เป็นเมนูที่สดชื่นเหมาะกับหน้าร้อนของขอนแก่นมากทีเดียว ยิ่งทานคู่ไปกับเค้กโฮมเมดที่จะหมุนเวียนเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ด้วยแล้ว การมาใช้วันหยุดที่รักอันเป็นการใช้เวลาว่างที่คุ้มค่าแน่นอนอย่างไม่ต้องสงสัย

อาจารย์เก๋ยังกระซิบบอกอีกว่า ในอนาคต ทางร้านมีแพลนที่จะทยอยเพิ่มเมนูเข้าไปเพื่อให้ลูกค้าได้สนุกกับการเลือกและลองความอร่อยของกาแฟมากขึ้น พร้อมไปกับดื่มด่ำบรรยากาศของอาคารไม้หลังเก่าที่อบอวลไปด้วยเรื่องราวในอดีต ที่ยังคงหอมกรุ่นและกลมกล่อมเช่นเดียวกันกับกาแฟที่รักอัน คอฟฟี่ (Rak-An Coffee)




472 views0 comments

Comments


bottom of page