top of page
Writer's pictureSRICHAN CLUB

Treasury Museun พิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ จังหวัดขอนแก่น

เล่าเรื่องระบบเศรษฐกิจอีสาน : จากเงินฮ้อย สู่เหรียญกษาปณ์




เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าย่านศรีจันทร์นั้น เป็นย่านการค้าใจกลางเมืองขอนแก่น จนผู้คนที่อยู่อาศัยและใช้ชีวิตอยู่บริเวณนั้นเรียกกันอย่างติดปากว่า “ย่านตลาดใหญ่” อาคาร 2 ชั้น บริเวณถนนกลางเมือง ตัดกันกับถนนศรีจันทร์ จังหวัดขอนแก่น เคยเป็นที่ตั้งของอาคารธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สถาบันทางการเงิน เป็นหลักฐานยืนยันได้ดีถึงการแพร่สะพัดของระบบการค้าและระบบเศรษฐกิจในเมือง ศรีจันทร์ไม่เพียงเป็นย่านการค้าหลักของชาวขอนแก่นเท่านั้น แต่ที่นี่ยังเป็นแหล่งการค้าหลักของภาคอีสานอีกด้วย



ความเฟื่องฟูของเศรษฐกิจ แสดงออกมาผ่านงานสถาปัตยกรรมของอาคารธนาคารแห่งประเทศไทยแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี ถึงแม้เวลาจะล่วงเลยผ่านมาเกือบ 70 ปี อาคารแห่งนี้ก็ยังคงตั้งตระหง่านอยู่บริเวณกลางเมือง และได้กลายมาเป็นที่ที่มีคุณค่าทางงานสถาปัตยกรรม และหลังจากที่ปิดร้างไปนาน อาคารแห่งนี้ก็เปิดให้บริการอีกครั้ง ในฐานะของ “พิพิธภัฑ์ธนารักษ์” ประจำจังหวัดขอนแก่น

โครงสร้างอาคารทั้งด้านในและด้านนอกยังครบสมบูรณ์ในรายละเอียดที่บอกร่องรอยของประวัติศาสตร์ได้เป็นอย่างดี สถาปนิกคนสำคัญในวงการสถาปัตยกรรมไทยพันเอกจิระ ศิลป์กนก (ผู้ออกแบบโรงภาพยนต์สกาล่า) เป็นผู้ออกแบบธนาคารแห่งประเทศไทยแห่งนี้ ด้วยศิลปะแบบโมเดิร์นไทยสมัยใหม่ ที่มีการรับเอาอิทธิพลในการสร้างความสมมาตรของอาคารมาจากตะวันตก อีกทั้งยังมีการใช้เหล็กดัดบริเวณทางเดินขึ้นบันไดของอาคารชั้น 1 และ ชั้น 2 ซึ่งได้รับอิทธิพลจากการตกแต่งอาคารในศิลปะตะวันตก ยุคศตวรรษที่ 20 เช่นเดียวกัน



ในปัจจุบันสถานที่แห่งนี้เปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ สถานที่ที่เก็บรวบรวมประวัติศาตร์ของเมืองผ่านการใช้เงินตราในแต่ละยุคแต่ละสมัยของอีสานเอาไว้ ควบคู่ไปกับการฉายภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมเมืองของจังหวัดขอนแก่น โดยพื้นที่ทั้งหมดแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ บริเวณชั้น 1 เป็นพื้นที่นิทรรศการหมุนเวียนที่ชุมชนและสถานศึกษาสามารถเข้าไปใช้พื้นที่ในการจัดกิจกรรมได้ อีกทั้งยังมีห้องสมุดที่สามารถมานั่งใช้เวลากับสื่อและหนังสือต่างๆ ในฐานข้อมูลได้



ส่วนบริเวณชั้น 2 เป็นโซนนิทรรศการถาวร ที่แบ่งเนื้อหาออกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 ได้แก่ประวัติศาสตร์ด้านเศรษฐกิจของอาณาจักรล้านช้าง และภูมิภาคอีสานของประเทศไทย ที่เล่าผ่านเงินตราในแต่ละยุคแต่ละสมัย ตั้งแต่เงินเปลือกหอยในยุคก่อนประวัติศาสตร์ เงินฮ้อยในยุคล้านช้าง เงินพดด้วงในยุคอยุธยา จนถึงเงินบาทในยุคปัจจุบัน ในส่วนเนื้อหาอีกส่วนหนึ่งนั้น เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองขอนแก่นในยุคตั้งเมือง ปี พ.ศ. 2500 การมาของรถไฟและถนนมิตรภาพ ทำให้เมืองขอนแก่นมีการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็ว โรงหนัง ร้านรวงและธุรกิจต่างๆ ล้วนมีเอกลักษณ์และความคิดสร้างสรรค์ ไปจนถึงพาร์ทขอนแก่นในอนาคต ที่พูดถึงการปรับโครงสร้างพื้นฐานของเมืองให้เหมาะกับการพัฒนาไปเป็น Smart city โดยผู้ชมทุกคน สามารถร่วมออกแบบเมืองขอนแก่นในอนาคตได้ เรียกได้ว่าเป็นการสร้างเมืองที่ทุกคนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง




508 views0 comments

Comments


bottom of page