top of page
Writer's pictureSRICHAN CLUB

การประชุมศรีจันทร์คลับ (Srichan Club) ครั้งที่ 3

เรื่อง : ภารดี ตั้งแต่ง


การประชุมศรีจันทร์คลับจัดขึ้นครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ในวันเสาร์ที่ 31 สิงหาคม 2562 โดยใช้พื้นที่ในร้านกาแฟ Fratello House เส้นถนนหลังเมืองเป็นที่จัดการประชุม ทางชมรมศรีจันทร์คลับ ยังคงได้รับความกรุณาและความร่วมมือจากผู้เข้าประชุมจากหลากหลายกลุ่มองค์กรอย่างคับคั่งเช่นเคย อาทิ ตัวแทนจากเทศบาลนครขอนแก่น หอการค้าจังหวัดขอนแก่น บริษัทมิตรผล จำกัด บริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง KKTT ชมรมสถาปนิกเฮ็ด-ดี ผู้ประกอบการตลาดบางลำภู ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน และผู้ประกอบการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง


โครงการศรีจันทร์คลับ (Srichan Club) เป็น 1 ใน 5 โครงการต้นแบบ Co-Create Srichan เพื่อต่อยอดและทดสอบแนวคิดสู่การขับเคลื่อนย่านสร้างสรรค์ศรีจันทร์อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีการสืบสาน ต่อยอด ติดตามผลงาน และแลกเปลี่ยนอัพเดทประเด็นข้อมูลต่าง ๆ ที่รวบรวมได้มาจากการประชุมครั้งที่สองที่จัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 22 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา

 

การประชุมในครั้งนี้มีจุดประสงค์ที่จะร่วมอัพเดทข้อมูลข่าวสารความคืบหน้าต่าง ๆ ของกิจกรรมของชมรม โดยมีประเด็นการประชุม อาทิ การเข้าร่วมการประชุม Thailand Creative District etwork (TCDN) ในการประชุม CEA Forum 2019 เรื่องความคืบหน้าการประกวดออกแบบพื้นที่สาธารณะ บริเวณที่จอดรถหน้าตึกคอม ที่ได้รับความกรุณาให้ใช้พื้นที่จากบริษัท มิตรผล จำกัด เรื่องแผนงานความร่วมมือกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ) ในการขับเคลื่อนโครงการประหยัดไฟฟ้าในเขตพื้นที่ศรีจันทร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาในโครงการ Smart City ของเทศบาลนครขอนแก่น และการเปิดโอกาสให้มีการพบปะหารือของกลุ่มคณะทำงานหลักของชมรมทั้ง 5 คณะทำงานหลักด้วยกัน อันได้แก่ (1) คณะทำงานด้านงบประมาณละการสนับสนุน (2) คณะทำงานด้านกลยุทธ์ แนวคิด และเนื้อหา (3) คณะทำงานด้านการส่งเสริมธุรกิจในย่าน (4) คณะทำงานด้านกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในย่าน และ (5) คณะทำงานด้านสื่อประชาสัมพันธ์


เปิดประเด็นการประชุมด้วยการแลกเปลี่ยนและอัพเดทข้อมูลเรื่องการเข้าร่วมการประชุม Thailand Creative District Network (TCDN) ในการประชุม CEA Forum 2019 ที่กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 19-20 สิงหาคม 2562 โดยในการประชุมครั้งนี้ คุณจินตนา ชูพรมวงษ์ ผู้จัดการส่วนกิจกรรมและพัฒนาเครือข่ายธุรกิจสร้างสรรค์ TCDC ขอนแก่น ได้เป็นตัวแทนเข้าร่วมการประชุม การประชุม CEA FORUM 2019 เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์จากประเทศต่าง ๆ ในการจัดทำนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่นำไปสู่การพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับธุรกิจ การบ่มเพาะชุมชนนักสร้างสรรค์ และการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจนำความคิดสร้างสรรค์ไปใช้ในการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน โดยคุณจินตนาได้เล่าให้ฟังถึงข้อมูลตัวอย่างการพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ในรายละเอียด อาทิ พื้นที่สร้างสรรค์ย่านเจริญกรุง กรุงเทพมหานคร ที่นับว่าเป็นพื้นที่ย่านสร้างสรรค์นำร่องในประเทศไทย อันเป็นโครงการที่ดำเนินการยาวนานต่อเนื่องมาตั้งแต่แรกเริ่มการลงพื้นที่วิจัยในปี 2553 และได้มีการผลิตแผนงานต้นแบบ การจัดทำผังแม่บทพัฒนาย่านสร้างสรรค์เจริญกรุง ผ่านประบวนการลงมือทดลองทำให้เกิดขึ้นจริง ทั้งการพัฒนากายภาพ การปรับปรุงภูมิทัศน์ ซึ่งโครงการนี้ไม่ได้มีแค่กิจกรรมบันเทิงเท่านั้น ยังมีการพัฒนาสภาวะที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจสร้างสรรค์และธุรกิจสนับสนุน ผ่านทางการจัดโครงการเสวนาและการสัมมนาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องกับคนในชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ การเผยแพร่ทิศทางเปลี่ยนแปลงของโลก (Creative Unfold) โครงการอบรมสัมมนาผู้ประกอบการธุรกิจสร้างสรรค์ การใช้ช่องทาง Social Media ของย่านในการประชาสัมพันธ์อาคารว่างเพื่อดึงผู้ประกอบการให้เข้าในพื้นที่ เป็นต้น โดยคาดหวังว่าจะพัฒนาโครงการอย่างต่อเนื่องจนสามารถผลิต Business Mapping เพื่อดำเนินธุรกิจสร้างสรรค์และธุรกิจสนับสนุนการพัฒนาย่านสร้างสรรค์ ซึ่งจะแล้วเสร็จและนำมาทดลองปฏิบัติได้จริงในปี 2563


นอกจากนี้ คุณจินตนา ยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า พื้นที่สร้างสรรค์ย่านเจริญกรุง กรุงเทพมหานคร ได้ยื่นใบสมัครเพื่อเข้ารับการคัดเลือกเข้าร่วมเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO แล้วในปีนี้ โดยนับว่าเป็นย่านนำร่องแห่งแรกของประเทศไทยที่ยื่นใบสมัคร เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่าพื้นที่ย่านมีมาตรฐานในระดับสากลเป็นการดึงดูดการลงทุนจากภายนอกพื้นที่เข้ามาในพื้นที่ เพื่อก่อเกิด Collaborative Project ระหว่างเมืองและองค์กรต่าง ๆ เพื่อเปิดโอกาสให้แต่ละเมืองเกิดกระบวนการเรียนรู้จากเมืองอื่น ๆในระดับสากล และเพื่อสร้างให้เกิดการมีส่วนร่วมของคนทุกกลุ่ม และหากในอนาคตทางขอนแก่นอยากจะพัฒนาย่านศรีจันทร์ของจังหวัดให้มีความสามารถและมาตรฐานในการสมัครเข้าร่วมเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO บ้าง เราอาจจะต้องเริ่มต้นศึกษาคุณสมบัติพื้นฐานของย่านสร้างสรรค์จากแบบสำหรับตรวจสอบรายการของ UNESCO (Pre-Application Checklist) เพื่อพัฒนาย่านศรีจันทร์ไปในทิศทางเดียวกันกับมาตรฐานเครือข่ายโลก


ประเด็นการประชุมถัดไป คือ การทบทวนรายชื่อผู้รับผิดชอบในคณะทำงานหลักของชมรมทั้ง 5 คณะด้วยกัน อันได้แก่ (1) คณะทำงานด้านงบประมาณละการสนับสนุน (2) คณะทำงานด้านกลยุทธ์ แนวคิด และเนื้อหา (3) คณะทำงานด้านการส่งเสริมธุรกิจในย่าน (4) คณะทำงานด้านกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในย่าน และ (5) คณะทำงานด้านสื่อประชาสัมพันธ์ โดยในการนี้ ที่ประชุมได้มีการหารือและเสนอรายชื่อตัวแทนจากหน่วยงานที่เหมาะสมเพิ่มเติม เพื่อเชิญให้เข้าร่วมคณะทำงานต่อไป


ประเด็นการประชุมลำดับต่อไป เป็นการนำเสนอโครงการจัดการประกวดออกแบบพื้นที่สาธารณะ ลานศรีจันทร์สร้างสรรค์ ณ ลานจอดรถหน้าตึกคอม อันเป็นพื้นที่ที่ได้รับการอนุเคราะห์จากบริษัท มิตรผล จำกัด ในการนี้ตัวแทนจากชมรมสถาปนิกเฮ็ด-ดี คุณเอก ตัณฑเกษม ได้นำเสนอร่างโครงการจัดการประกวด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการออกแบบการใช้พื้นที่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเปิดโอกาสให้นักศึกษาและประชาชนทั่วไปที่ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมเข้าร่วมประกวดได้ โดยการประกวดจะเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในงานสถาปนิกอีสาน ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 พ.ย. – 1 ธ.ค. 2562 ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่าขอนแก่น และจะปิดรับสมัครภายในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2562 เพื่อทำการคัดเลือกผู้เข้ารอบสุดท้าย โดยผู้ที่ผ่านการคัดเลือกให้เข้ารอบจะได้นำเสนอผลงานบนเวทีในวันประกวดจริง (วันที่ 1 ธันวาคม 2562) หลังจากที่ประชุมได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับกติกาการจัดประกวดแล้ว ได้ทำการเสนอแนะเพื่อการปรับปรุงโครงร่างการประกวดในแง่มุมต่าง ๆ ซึ่งทางชมรมสถาปนิกเฮ็ด-ดี จะได้นำข้อเสนอแนะจากที่ประชุมไปปรับปรุงโครงร่างเพื่อนำเสนอกับทางผู้บริหารบริษัท มิตรผล จำกัด และชมรมศรีจันทร์คลับ เพื่อพิจารณาอีกครั้งในลำดับต่อไป


ประเด็นสุดท้ายในการประชุม คุณสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย ตัวแทนจากบริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง KKTT ได้แจ้งให้ประชุมทราบเรื่องความร่วมมือกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ) และเทศบาลนครขอนแก่น เรื่องการที่ย่านศรีจันทร์จะได้รับคัดเลือกให้เป็นพื้นที่นำร่องเรื่องการประหยัดไฟ โดยเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Smart City ของเมือง การจัดโครงการในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) เพื่อการเตรียมความพร้อมของอุปกรณ์เพื่อการประหยัดไฟ โดยทาง กฟภ. จะนำอุปกรณ์ดังกล่าวไปติดตั้งที่ห้างร้านและบ้านเรือนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ศรีจันทร์ โดยเจ้าของที่อยู่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ และคาดว่าจะสามารถช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าลงได้จากปกติถึง 20 -30% โดยส่วนต่างค่าไฟฟ้าที่ประหยัดได้ในแต่ละเดือนจะนำไปทยอยหักชำระค่าอุปกรณ์ โดยที่ทางผู้อยู่อาศัยและผู้ประกอบการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มแต่อย่างใด



ภาพบรรยายกาศ


 

สำหรับประเด็นอื่น ๆ ทาง TCDC ได้แจ้งประชาสัมพันธ์กิจกรรมที่น่าสนใจของทางศูนย์ส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่กำลังจะมาถึง ได้แก่การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ Service Design for Creative Hospitality & Tourism Business ในวันที่ 18 - 20 กันยายน 2562 นี้ ที่โรงแรมนาดี โดยจะรับสมัครผู้เข้าร่วมอบรมที่เป็นผู้ประกอบการ เจ้าของกิจการ และผู้สนใจธุรกิจบริการและการท่องเที่ยวในจังหวัดขอนแก่น จำนวน 30 คน เข้าร่วมอบรมในครั้งนี้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ผู้เข้าร่วมอบรมจะได้รับความรู้ในเรื่องการออกแบบบริการและมองเห็นโอกาสใหม่ ๆ ในการยกระดับธุรกิจบริการและการท่องเที่ยว พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมนโยบายของจังหวัดขอนแก่น ภายใต้แนวคิด “MICE CITY: เที่ยวครึ่ง ประชุมครึ่ง” และร่วมสนับสนุนธุรกิจการท่องเที่ยวท้องถิ่นในโครงการ Khon Kaen Love Local เพื่อผนวกศักยภาพของขอนแก่นเข้ากับเสน่ห์วิถีชุมชนต่อไป ผู้สมัครที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการสามารถตรวจสอบรายชื่อได้ภายในวันที่ 13 กันยายน 2562 นี้


หลังจากปิดการประชุม คณะทำงานได้รวมกลุ่มย่อยของคณะทำงาน เพื่อคุยรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการดำเนินงานของกลุ่มในรายละเอียดต่อไป

375 views0 comments

Comments


bottom of page