top of page
  • Writer's pictureSRICHAN CLUB

การฟื้นฟูพื้นที่ บขส.1 สู่โอกาสเศรษฐกิจใหม่ของเมือง : Co-creation

Updated: Jun 1, 2022



คิด (ให้) ถึง

ความคิดถึง…ไม่ว่าจะเป็นความคิดถึงเรื่องครอบครัว หรือ คิดถึงเรื่องธุรกิจการงาน รถขนส่งประจำทางเป็นพาหนะที่ตอบโจทย์ ด้านความสะดวกและราคาในการนำพาความคิดนั้นไปยังหมุดหมาย สถานีรถขนส่งหรือที่เรียกกันอย่างคุ้นเคยว่า “บขส. 1” จึงแทบไม่เคยหลับใหล ทั้งจากพ่อค้าแม่ขาย นักเดินทาง นักท่องเที่ยว นักเรียนนักศึกษาที่เข้ามาเรียนหนังสือในตัวเมือง รวมทั้งพลขับสายย่อยต่างๆ

แต่ในวันที่ถึงคราวเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย บขส.1 กลายเป็นความเงียบเหงาที่น่าใจหาย ทำให้เราต้องร่วมระดมมันสมองกัน ทำอย่างไรจึงจะคืนความคึกคัก ครึกครื้นให้กลับมา ทำยังไงความคิดของเราจึงจะไปถึงเป้าหมายนั้น

ตำนานบขส.

“ไปขึ้นเรือบินที่บขส.” … ได้ยินครั้งแรกอาจจะงงๆ แต่เมื่อได้อ่านประวัติของบริษัท ขนส่ง จำกัด ก็จะถึงบางอ้อทันทีว่า “บริษัท ขนส่ง จำกัด ก่อตั้งเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พุทธศักราช 2473 ในชื่อ บริษัท เดินอากาศไทย จำกัด” โดยเป็นผู้บุกเบิกริเริ่มการบินพาณิชย์ในประเทศรายแรก และเดินรถยนต์โดยสารสายกรุงเทพฯ-ลพบุรี และ กรุงเทพฯ-ปราจีณบุรี ต่อมาจึงกลายเป็นรัฐวิสาหกิจในปีพุทธศักราช 2481

กระทั่งพุทธศักราช 2490 รัฐบาลจึงได้แยกกิจการการบินออกจากบริษัท ขนส่ง จำกัด ทางบริษัทขนส่งฯ ได้พยายามปรับปรุงทั้งด้านการบริหารจัดการภายในและการให้บริการเรื่อยมา ในปีพุทธศักราช 2510 บริษัทฯ ได้มีพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารสถานีขนส่งผู้โดยสารภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณตลาดหมอชิต ถนนพหลโยธิน โดยผู้โดยสารเรียกติดปากว่า “สถานีขนส่งหมอชิต”

และสำหรับพื้นที่ในการจัดสร้างสถานีขนส่งของจังหวัดขอนแก่นนั้นเป็นที่ราชพัสดุซึ่งกรมธนารักษ์เป็นผู้ดูแล เดิมเป็นที่ทำการกรมทาง ก่อนจะย้ายออกไปและจัดสร้างเป็นสถานีขนส่ง แห่งที่ 1 จังหวัดขอนแก่น

บริษัทขนส่งฯ สายอีสานได้ดำเนินการให้บริการพี่น้องชาวอีสาน จนกระทั่งบริษัทขนส่งฯ มีแผนขยายเส้นทาง เดินรถข้ามประเทศไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้เพื่อรองรับการขยายตัวทางการค้า การลงทุนที่รัฐบาลหมายจะให้ไทยเป็นประตูสู่อินโดจีน และในพุทธศักราช 2551 จังหวัดขอนแก่น ได้เปิดเส้นทางสายที่ 5 ขอนแก่น - นครหลวงเวียงจันทน์ สายสัมพันธ์พี่น้องสองฝั่งวัฒนธรรมจึงแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น


ตื่นจากการหลับใหล

เมื่อปลายพุทธศักราช 2560 ภายหลังจากที่บขส. 1 ขอนแก่น ได้ย้ายการบริการทั้งหมดไปยังบขส. 3 ซึ่งอยู่ห่างตัวเมืองออกไปราว 9 กิโลเมตร ส่งผลต่อผู้ประกอบการที่อยู่บริเวณบขส. 1 ตลอดจนผู้โดยสาร นักเรียน นักศึกษา ผู้มารับบริการทางการแพทย์ไม่ต่ำกว่า 20,000 คนต่อวัน และยิ่งเมื่อสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 เข้าซ้ำเติมผู้ประกอบการ สถานีขนส่งที่เคยคึกคักแห่งนี้จึงกลายเป็นสถานที่ที่เปลี่ยวร้างไปอย่างน่าใจหาย

จนกระทั่งในพุทธศักราช 2565 ทางผู้บริหารของสำนักงานธนารักษ์พื้นที่ขอนแก่น ได้เห็นชอบกับหลักการในการพัฒนาพื้นที่ของเทศบาลนครขอนแก่น… อดีตอันคึกคักของเมืองกำลังจะคืนชีพแล้ว


สภาวะฉุกคิด

5 ปีแห่งความเงียบงันกำลังจะจบลง และเพื่อให้การพัฒนาพื้นที่ตอบสนองกับความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้แก่ ผู้อยู่อาศัยและค้าขายบริเวณบขส. 1 ผู้ค้าขายในตลาดอ.จิระ ชาวชุมชนเทพารักษ์ และชาวขอนแก่นที่สนใจ

ทางเทศบาลนครขอนแก่นจึงร่วมกับหน่วยงานสนับสนุนได้แก่ สำนักส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ขอนแก่น สำนักงานธนารักษ์พื้นที่ขอนแก่น ขนส่งจังหวัดขอนแก่น องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานขอนแก่น หอการค้าจังหวัดขอนแก่น หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ศรีจันทร์คลับ ฯลฯ โดยมีสำนักส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ขอนแก่น เป็นตัวกลางในการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “การฟื้นฟูพื้นที่บขส. 1 สู่โอกาสเศรษฐกิจใหม่ของเมือง” (Co-creation บขส. 1) ณ สถานีขนส่งผู้โดยสารแห่งที่ ๑ จังหวัดขอนแก่น



เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีแนวทางในการระดมความคิดในการพัฒนาพื้นที่บขส. 1 ทางศูนย์เศรษฐกิจสร้างสรรค์ จึงได้นำกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) มาใช้เป็นเครื่องมือ โดยค้นหาความต้องการเขิงลึกและเข้าใจอย่างแท้จริง กำหนดขอบข่ายที่สนใจและเป็นไปได้ ระดมความคิดที่ต่อยอด และสร้างตัวต้นแบบ




ซึ่งการคิดเชิงออกแบบนี้เป็นวิธีสร้างความคิดใหม่อย่างก้าวกระโดด นอกกรอบเดิม โดยเฉพาะสำหรับโครงการและปัญหาที่ซับซ้อน เป็นเวลาที่ต้องใช้ทีมที่มีความชำนาญ หลากหลายศาสตร์ จำเป็นต้องสร้างและทดลองต้นแบบกับผู้ใช้


และเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ ก่อนที่จะร่วมกันระดมความคิดในภาคปฏิบัติการ ดร.ปัทมพร วงศ์วิริยะ อาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงได้บรรยายถึง “ประโยชน์ของการพัฒนาพื้นที่ต่อการยกระดับคุณภาพชีวิต” โดยมีข้อฉุกคิดคือ เมืองที่เราอยู่นั้นส่งผลอย่างไรกับตัวตนและคุณภาพชีวิตของพวกเรา




พายุสมองก่อเกิด

หากคำว่า “เมือง” หมายถึงเขตซึ่งเป็นที่ชุมนุม ดังนั้น “ความเป็นเมือง” จึงพิจารณาได้จากทั้งการเป็นที่พักอาศัย ที่ทำงาน ที่เรียน สถานที่พักผ่อน แหล่งซื้อของ และสัญจร

เมื่อผู้เข้าร่วมสัมมนามีความเข้าในเรื่องการพัฒนาพื้นที่ในขั้นพื้นฐานดีแล้ว กระบวนการระดมสรรพความคิดจึงเริ่มขึ้น โดยการกระจายกำลังออกเป็น 6 กลุ่ม 6 สี คือ สีเหลือง สีส้ม สีแดง สีดำ สีเขียว และสีน้ำเงิน

ในวินาทีแรก เครื่องอาจจะยังไม่ร้อน ทุกคนจึงยังนิ่งอยู่ แต่เมื่อถูกกระตุ้นด้วยเครื่องมือเรียกความทรงจำ เรื่องเล่าต่างๆ ก็พร่างพรู เช่น

“สมัยแต่กี๊สิบ่ค่อยล้มงัวกัน สิได้กินก็ต่อเมื่อมีงานบุญประจำหมู่บ้าน จึงสิล้มกันสักตัว ถ้าอยากกินลาบเนื้อก็ต้องเข้ามาที่บขส. ซึ่งมีให้เลือกหลายร้าน” พ่อใหญ่ท่านหนึ่งในกลุ่มสีดำเล่าถึงร้านที่คุ้นลิ้น ชินตา ทุกครั้งที่มาบขส.


“สมัยก่อนที่บขส.นะ รถต้องเป็นสีส้ม พื้นเป็นไม้ พัดลมยังไม่มีนะ ต้องเปิดหน้าต่างเอา แล้วขับอืดๆ ถึงได้เรียกว่า รถหวานเย็น” เป็นเรื่องเล่าที่ทุกกลุ่มยังระลึกถึง รวมถึงอดีตวัยเยาว์ของผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ที่ต้องใช้บริการรถขนส่งวิ่งระหว่างอำเภอชุมแพและอำเภอเมือง เพื่อเข้ามาเรียนหนังสือที่โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน จนกระทั่งสำเร็จการศึกษา


บทสนทนาในความทรงจำร่วมคล้ายเป็นกุญแจปลดล็อคที่ทำให้มิตรภาพในกลุ่มเริ่มก่อเกิด การแสดงความคิดเห็นในแต่ละกลุ่มจึงออกรสออกชาติกันเป็นอย่างมาก แถมยังได้รับไอเดียเยี่ยมๆ ไปจนเต็มกระดานความเห็น

จากการพูดคุยถึงทรัพย์สินที่เรามีทั้งจับต้องได้และจับต้องไม่ได้ ปัญหา ทางแก้ไข และศักยภาพของพื้นที่ จนนำไปสู่บทสรุปในการวิเคราะห์พื้นที่ว่า ไม่ว่าจะปรับปรุงเป็นตลาด 24 ชั่วโมง ศูนย์การค้า ศูนย์การแพทย์หรือศูนย์ราชการย่อยก็ตาม สิ่งที่ทุกคนต้องการตรงกันคือ “ต้องการให้มีรถโดยสารสายสั้น วิ่งระหว่างอำเภอกลับเข้ามา โดยไม่มีการจอดแช่ เพื่อเรียก ความคึกคักให้กลับมา จัดสร้างคอมเพล็กซ์ที่ครบวงจร เพื่อให้เป็นแลนด์มาร์กของเมือง รวมทั้งผลักดันรถสองแถวให้ออกไปข้างนอกพร้อมกับแก้ปัญหาการจราจร”




To Be Continue…

“ผมเนี่ยสมัยหนุ่มๆ มีอาชีพเป็นเซลแมน เดินทางขึ้นเหนือล่องใต้ แต่ไม่เคยเห็นอาคารบขส. ที่ไหนมีโครงสร้างรูปทรงเหมือนที่ขอนแก่นเลย” ผู้ร่วมกิจกรรมท่านหนึ่งชี้ชวนให้ผู้ร่วมกิจกรรมท่านอื่นๆ สังเกตความเก๋ไก๋ของของโครงสร้างอาคารเก่า

ยิ่งภายหลังจากที่ “คุณชุตยาเวศ สินธุพันธ์” บรรยายถึง “การปรับปรุงอาคารเก่ามาใช้ในรูปแบบใหม่ ทำให้หลายๆ คนเริ่มคิดถึงความเป็นไปได้ของกิจกรรมที่จะใช้ร่วมกับอาคารลูกครึ่งกึ่งไทยกึ่งโมเดิร์นกลุ่มนี้

จากกิจกรรมระดมความคิดในช่วงเช้าจนกระทั่งตอนนี้ ชื่อโครงการ คำอธิบาย วัตถุประสงค์ เป้าหมาย จุดเด่น วิธีการดำเนินงาน และการใช้พื้นที่ในแต่ละวัน สรรพความคิดที่แต่ละกลุ่มปลดปล่อยออกมา ถึงขณะนี้จะยังเป็นเพียงจินตนาการแต่มันก็เริ่มชัดเจนจนคล้ายอยู่ต่อหน้า

แม้อากาศระอุในช่วงบ่ายกลางฤดูร้อน จะทำให้แนวร่วมระดมความคิดแทบหลอมละลาย แต่ความฝันของพวกเรา ที่อยากให้เมืองก้าวไปข้างหน้าจะไม่มีวันมอดไหม้



ภาพบรรยากาศ


315 views0 comments

Comments


bottom of page